ปัญหาโรคไข้มาลาเรีย ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทยโดยพบผู้ป่วยในพื้นที่ติดกับแนวชายแดน ไทย-เมียนมา 10 จังหวัด สำหรับสถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยแล้ว 8,999 ราย
จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ จังหวัดตาก 4,048 ราย รองลงมา ได้แก่ กาญจนบุรี 1,102 ราย แม่ฮ่องสอน 956 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 955 ราย และราชบุรี 500 ราย ตามลำดับ
ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยติดเชื้อชนิดไวแวกซ์ (Plasmodium vivax) ร้อยละ 93.6 และชนิดฟัลซิปารัม (Plasmodium falciparum) ร้อยละ 5 พบมากในกลุ่มอายุ 25 – 44 ปี ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้าง สัดส่วนผู้ป่วยคนไทยและต่างชาติแตกต่างกัน โดยพื้นที่ชายแดนภาคเหนือพบผู้ป่วยต่างชาติมากกว่าคนไทย ขณะที่พื้นที่ชายแดนภาคตะวันตกพบผู้ป่วยคนไทยมากกว่าต่างชาติ
ทั้งนี้ มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียได้รับทราบสถานการณ์และผลการดำเนินงานใน 6 จังหวัดไข้สูงชายแดนไทย - เมียนมา มีมติเห็นชอบ ดังนี้
1) เพิ่มพื้นที่ดำเนินงานเร่งรัดอีก 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง เชียงใหม่ และเชียงราย
2) แต่งตั้งอนุกรมการเพิ่ม ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด และผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข 4 เขต (เขต 1 2 5 และ 11)
3) สนับสนุนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการตรวจหาผู้ติดเชื้อโรคไข้มาลาเรียด้วยชุดตรวจอย่างรวดเร็ว (RDT)
นอกจากนั้นยังรับทราบการใช้ยาทาฟิโนควิน (Tafenoquin) ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ชนิดไวแวกซ์ ใน 21 โรงพยาบาล ของ 6 จังหวัดชายแดน
4) เร่งรัดให้อำเภอที่พบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียสูงพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการทางสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคไข้มาลาเรีย ในระดับอำเภอ เพื่อเร่งระดมสรรพกำลังและทรัพยากรสนับสนุนในการจัดการโรคไข้มาลาเรีย
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นอกจากต้องดำเนินมาตรการดังกล่าว ในจังหวัดไข้สูง ยังต้องเฝ้าระวังในพื้นที่จังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรียซึ่งในปี 2567 นี้
พบว่า มีจังหวัดที่ถูกประกาศรับรองเป็นจังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรียแต่กลับมาพบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ถึง 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สตูล เชียงใหม่ และเลย จึงต้องมีการจัดทำแผนเพื่อป้องกันการกลับมาแพร่เชื้อใหม่ในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบ การเคลื่อนย้ายของประชากรต่างชาติ เพื่อป้องกันการนำเชื้อเข้ามาในประเทศไทย
ด้านนายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องเร่งรัดกำหนดเป้าหมายลดโรคไข้มาลาเรียให้ได้ภายใน 3 เดือน (กรกฎาคม-กันยายน 2567) ด้วยมาตรการ 1-3-7 ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมโรคเดิม (รายงานผู้ป่วยภายใน 1 วัน สอบสวนผู้ป่วยเฉพาะรายภายใน 3 วัน และควบคุมยุงพาหะพร้อมทั้งสื่อสารความเสี่ยงภายใน 7 วัน)
พร้อมเพิ่มมาตรการ 6+1 ได้แก่ การเพิ่มการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน ขยายการเข้าถึงบริการตรวจรักษาในชุมชนโดยมาลาเรียชุมชน การตอบโต้เมื่อพบผู้ป่วยหรือเมื่อเกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว การควบคุมยุงพาหะให้ครอบคลุม การติดตามการกินยาและผลการรักษาให้ครบถ้วน การติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนเครื่องมือ นวัตกรรมใหม่ แนวทาง คู่มือ และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์
ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดไข้สูง 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี รวมถึงจังหวัดที่พบรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติมอีก 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง เชียงใหม่ และเชียงราย เพื่อเร่งลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียโดยเร็วที่สุด
แพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง เสริมว่า โรคไข้มาลาเรียเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวชนิด Plasmodium spp.
เมื่อป่วยจะมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรียทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเข้าป่าหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้มาลาเรียให้แพทย์ทราบ ทานยาให้ครบและไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อให้หายขาดจากโรคไข้มาลาเรียสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 หรือ ที่เว็บไซต์ มาลาเรียออนไลน์ โครงการกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย