เตือน 5 จังหวัด พบโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กเล็กมากสุด 

04 ก.ค. 2567 | 15:30 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2567 | 15:31 น.

กรมควบคุมโรค แนะสถานศึกษาคัดกรองและสังเกตอาการเด็กเล็กก่อนเข้าเรียน ป้องกันโรคมือ เท้า ปาก เหตุเข้าฤดูฝนอากาศเปลี่ยนเปลง เอื้อต่อการระบาดของเชื้อโรค พบ 5 จังหวัดป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด

4 กรกฎาคม 2567 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝนซึ่งเอื้อต่อการระบาดของเชื้อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ประกอบกับสถานศึกษาเปิดเรียนเป็นปกติ เด็กอาจมีการทำกิจกรรมรวมกลุ่ม ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อซึ่งโรคดังกล่าวมีแนวโน้ม พบอัตราป่วยมากที่สุด ในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน

โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพอง ตุ่มแผล หรือจากการสัมผัสของเล่น อุปกรณ์เครื่องใช้ หรือภาชนะที่ใช้ร่วมกัน ดังนั้น สถานศึกษาจึงควรมีมาตรการคัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้าเพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก หากพบเด็กมีอาการเสี่ยงจะได้ป้องกันการแพร่ระบาดไปสู่เด็กคนอื่น

สถานการณ์โรคมือเท้าปาก

ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 มิถุนายน 2567 พบรายงานผู้ป่วยสะสม จำนวน 23,143 ราย เสียชีวิต 1 ราย

กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มเด็กแรกเกิด - 4 ปี โดยพบผู้ป่วย 16,732 ราย  รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5-9 ปี จำนวน 5,597 ราย และกลุ่มอายุ 10-14 ปี จำนวน 488 ราย

ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ภูเก็ต (110.63) เชียงราย (97.60) ชลบุรี (83.55) พัทลุง (82.40) และสระบุรี (67.79) ตามลำดับ

สำหรับอาการของโรคมือ เท้า ปาก

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาจไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เจ็บคอ เจ็บปาก ในเด็กเล็กสังเกตได้จากการไม่ยอมรับประทานอาหารหรือมีน้ำลายไหล ร่วมกับมีผื่นหรือตุ่มน้ำใสพองเล็ก ๆ ขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลำตัว ก้น มีตุ่มแผลบริเวณในช่องปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ซึ่งภายหลังตุ่มแผลจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ ส่วนใหญ่อาการจะทุเลาและหายเองได้ภายใน 7-10 วัน

หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้สูง รับประทานอาหารและน้ำได้น้อยมาก ซึมลง ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิตได้

นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวย้ำให้ผู้ปกครองและสถานศึกษาสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอและสถานศึกษาหรือสถานรับเลี้ยงเด็กควรปฏิบัติตามคำแนะนำป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้ 

1.คัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้าอย่างเคร่งครัด  

2.ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ (แอลกอฮอล์เจลไม่สามารถฆ่าเชื้อนี้ได้) ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น  

3.หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่น และพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ  

4.หากสถานศึกษาพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้านเพื่อพาไปพบแพทย์ พร้อมทั้งให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหาย แยกของใช้ส่วนตัวของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไปและนำไปตากแดดให้แห้ง

หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็กคนอื่น งดไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัดและหากพบการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก เป็นกลุ่มก้อน ควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เพื่อดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422