อาการปวดเข่า และ วิธีการรักษา ต้องทำอย่างไรตรวจสอบรายละเอียดด่วน

31 พ.ค. 2567 | 14:18 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2567 | 14:42 น.
1.1 k

อาการปวดเข่า และ วิธีการรักษา เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน แนวทางการรักษาต้องทำอย่างไร อ่านรายละเอียดด่วน

อาการปวดเข่า เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับหลายคน ไม่ว่าจะเป็นคนผอม นักกีฬา โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน จะทำให้เกิดอาการปวดเข่าอย่างต่อเนื่อง

อาการปวดเข่าเป็นอย่างไร

อาการเริ่มแรกของข้อเข่าที่มีปัญหาคืออาการปวด ซึ่งในระยะแรกอาจเป็นอาการปวดเป็น ๆ หาย ๆ และปวดมากเมื่อมีการใช้งานของข้อเข่า เช่น การยืนนาน ๆ หรือการเดินขึ้นลงบันได เมื่อเป็นนานเข้าจะมีอาการฝืดขัด อาการปวดจะเป็นมากขึ้นและรุนแรงขึ้น อาจมีการสะดุดหรือข้อติดขัดเวลาเดินในรายที่เป็นมาก ๆ ข้อจะบวม

สาเหตุของอาการปวดข้อเข่ามีอะไรบ้าง 
1. การบาดเจ็บหรือมีอุบัติเหตุต่อข้อเข่า พบได้บ่อยมาก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อหรือข้อบวมทันทีภายหลังจากมีอุบัติเหตุ อาจพบรอยช้ำบริเวณข้อได้
2. โรคข้อเข่าเสื่อม พบได้มากในเพศหญิงวัยกลางคนและสูงอายุ อาการปวดจะเป็น ๆ หาย ๆ มาเป็นเวลานาน และมีความสัมพันธ์กับการใช้ข้อ
3. กระดูกอ่อนของกระดูกสะบ้าเสื่อม เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กหรือหนุ่มสาว อาจพบร่วมกับการออกกำลังกายอย่างรุนแรงหรือมีอุบัติเหตุต่อข้อเข่า เป็นเหตุให้กระดูกสะบ้าเสื่อมก่อนวัย
4. กระดูกสะบ้าเคลื่อน พบได้ในคนอายุน้อย จะมีการเคลื่อนของกระดูกสะบ้าเมื่อมีการงอข้อเข่า อาจเป็นผลจากการเสื่อมหรือฉีกขาดของเอ็นยึดกระดูกสะบ้า หรือกระดูกผิวข้อต้นขาตื้นกว่าปกติ
5. ปุ่มกระดูกหน้าแข้งอักเสบ พบได้บ่อยในเด็กวัยรุ่นที่มีการเจริญเติบโตอย่างมาก และมีการออกกำลังกายอย่างรุนแรง ทำให้มีการอักเสบของเอ็นที่ยึดติดกับปุ่มกระดูกหน้าแข้ง
6. ถุงน้ำรอบข้อเข่าอักเสบ พบได้บ่อยในผู้หญิงอ้วน หรือผู้ที่ต้องคุกเข่าทำงาน
7. อาการปวดเข่าภายหลังข้อเข่าอักเสบ มักพบในรายที่มีข้อเข่าอักเสบเรื้อรัง เมื่อได้รับการรักษาจนหายแล้วก็ตาม ผลจากการอักเสบของข้อจะทำให้มีการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อ ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมตามมาได้
8. ข้อเข่าอักเสบ ในกรณีที่มีข้อเข่าอักเสบ ข้อเข่าจะมีอาการบวมและร้อนร่วมด้วย การเคลื่อนไหวของข้อเข่าจะทำได้ไม่เต็มที่

 

อาการปวดเข่า  และ วิธีการรักษา

สัญญาณอันตรายอาการปวดข้อเข่า
1. มีการบวมและร้อนของข้อเข่าหรือบริเวณรอบ ๆ ข้อ
2. มีต่อมน้ำเหลืองโต
3. มีกล้ามเนื้อต้นขาลีบ
4. มีการเปลี่ยนแปลงของสีของเท้าเวลาเดินนาน ๆ
5. มีอาการเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ
6. มีอาการข้อติดหรือข้อขัด
7. มีอาการชาหรืออ่อนแรงของขา

 

วิธีรักษาอาการปวดข้อ

1. ในกรณีที่มีอาการบวมหรือปวดข้อมากภายหลังได้รับปรึกษาแพทย์
2. ในรายที่มีข้อเข่าบวมหรือเคยมีประวัติข้อเข่าบวมควรปรึกษาแพทย์
3. ในรายที่ทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลหรือแอสไพรินมาประมาณ 5-7 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
4. ในรายที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรพยายามลดน้ำหนัก เพื่อลดแรงกดที่กระทำต่อข้อ
5. ในรายที่เป็นมานานและกล้ามเนื้อต้นขาลีบ ควรทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการเจ็บปวด และเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อ (ศึกษาได้จากเอกสารการบริหารร่างกาย).

ที่มา: สมาคมรูมาติซั่มแห่งประเทศไทย