23 พฤษภาคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างกองทัพอากาศ กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร
เพื่อร่วมกันจัดบริการสุขภาพอย่างเต็มระบบให้กับประชาชน ข้าราชการกองทัพอากาศและครอบครัว รวมถึงข้าราชการสังกัดอื่น ๆ ในโซนกรุงเทพมหานครตอนเหนือ พื้นที่เขตดอนเมืองและใกล้เคียง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าที่ผ่านมาภายใต้นโยบาย โรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาลและปริมณฑลได้ร่วมกันยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) ให้เป็นโรงพยาบาลเขตดอนเมืองซึ่งปัจจุบันให้บริการผู้ป่วยแล้ว 25,700 คน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไปถึง 90% อีก 10% เป็นข้าราชการกองทัพอากาศ
นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อเพื่อดูแลประชาชนโซน กทม. ตอนเหนือและโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีคุ้มเกล้า รับส่งต่อดูแลประชาชนโซน กทม.ฝั่งตะวันออก คือ เขตมีนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง
สำหรับการลงนามฯ ครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันพัฒนาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ การส่งต่อผู้ป่วย บูรณาการระบบสุขภาพเพื่อพัฒนาหน่วยรักษาพยาบาลใกล้บ้าน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ร่วมกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสและความสะดวกให้กับประชาชนในการรับบริการทางการแพทย์ที่ "เข้าถึง เข้าใกล้ และเข้าง่าย" และเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดขยายความร่วมมือกันมากขึ้นต่อไป
ด้าน พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า กองทัพอากาศมีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในเขตดอนเมืองและพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งนอกจากจะเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชน ข้าราชการกองทัพอากาศและครอบครัว รวมถึงข้าราชการสังกัดหน่วยงานอื่น ๆ อีกจำนวนมาก
ช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์และลดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลให้เป็นไปอย่างรวดเร็วจะเพิ่มโอกาสในการช่วยชีวิตผู้ป่วยมากขึ้น
ขณะที่การพัฒนาศักยภาพบุคลากร ทั้งด้านการศึกษา การอบรม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ก็จะนำไปสู่ความร่วมมือในการขยายระบบบริการทางการแพทย์ได้อย่างกว้างขวางต่อไป
ส่วน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้แบ่งโซนสุขภาพออกเป็น 7 โซน เป็นการบูรณาการสุขภาพ ประกอบด้วย หน่วยบริการปฐมภูมิ ภาคีเครือข่าย และภาคประชาชน มุ่งเน้นการพัฒนาระบบปฐมภูมิ หรือหน่วยการรักษาพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน
ความร่วมมือในวันนี้จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพแก่ประชาชนในโซนสุขภาพที่ 6 กรุงเทพเหนือ และจะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพมหานครโซนอื่นๆ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ง่ายขึ้น อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมต่อไป