THG เดินหน้า 4 กลยุทธ์ดันรายได้ทะลุหมื่นล้าน

22 พ.ค. 2567 | 13:59 น.

เปิดยุทธศาสตร์ THG ทุ่ม 1,500-2,000 ล้านบาทสยายปีกธุรกิจ ชู 4 กลยุทธ์ 1. จับมือพันธมิตรขยายบริการแพทย์เฉพาะทาง 2. ขยายธุรกิจเฮลท์แคร์นอกรพ. 3. เปิดศูนย์แพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็ง 4. ขยายธุรกิจในเมียนมาและเวียดนาม มั่นใจเติบโตกว่า 10% ดันรายได้แตะหมื่นล้าน

นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้บริหารเครือโรงพยาบาลธนบุรี เปิดเผยว่า นโยบายของบริษัทมุ่งเดินหน้าใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การสร้างรายได้เพิ่ม 2. การพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม โดย THG มุ่งให้บริการสังคมและชุมชนให้เกิดความยั่งยืน

โดยมีบริษัท ธนบุรี เสริมรัฐ จำกัด เป็นแกนนำในการร่วมมือกับหน่วยงานรัฐแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรและการจัดการ โดย THG กำหนดเป้าหมายระยะยาว “มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมสุขภาพของภูมิภาคอาเซียน ภายในปี 2593” และ 3. การพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับบริการทางการแพทย์ของทุกโรงพยาบาลในเครือทั่วประเทศให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์

ด้านแผนการลงทุนในปีนี้บริษัทเตรียมงบลงทุนราว 1,500 -2,000 ล้านบาท ในการขยายการลงทุนทั้งในรูปแบบที่บริษัทลงทุนเอง การร่วมทุน และ การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ ( Merger & Acquisition : M&A) โดยวาง 4 กลยุทธ์เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ได้แก่

1. การจับมือโรงพยาบาลเครือข่ายและพันธมิตร ยกระดับขยายบริการทีมแพทย์เฉพาะทางถึงระดับตติยภูมิ ครอบคลุมทั้งโรคยากและโรคเฉพาะทาง พร้อมกำหนดให้รพ.ธนบุรี เป็นแฟลกชิปในการนำหุ่นยนต์ที่ใช้ทางการแพทย์เข้ามาใช้ อาทิ หุ่นยนต์ฝึกเดิน หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่า ข้อสะโพก ผ่าตัดมะเร็ง ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังปรับโครงสร้างการบริหารโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง หลังจากที่ชะลอแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะควบรวมการบริหารโรงพยาบาลธนบุรีและโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง เข้าด้วยกัน เพื่อดึงจุดแข็งเสริมความแกร่งระหว่างกันและสร้างรายได้ให้โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมืองอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะพิจารณาความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งในโอกาสต่อไป

2.มองหาโอกาสขยายธุรกิจเฮลท์แคร์นอกโรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด อาทิ การเปิด Jin Wellness by THG ณ สยามพารากอน และเตรียมเปิดคลินิกเอาท์เล็ทเพิ่มอีก 2 แห่งในภาคใต้ ได้แก่ คลินิกโรงพยาบาลธนบุรี ทุ่งสง ณ เซ็นทรัล นครศรีธรรมราช และคลินิกโรงพยาบาลราษฎร์ยินดี ที่อยู่ระหว่างจัดหาสถานที่

THG เดินหน้า 4 กลยุทธ์ดันรายได้ทะลุหมื่นล้าน

3.เปิดศูนย์แพทย์เฉพาะทางด้านการรักษาโรคมะเร็งในโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค เบื้องต้นตั้งเป้า 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสิริเวช จันทบุรี เตรียมเปิดปลายปี 2567, โรงพยาบาลธนบุรี ตรัง และโรงพยาบาลอุบลรักษ์ อุบลราชธานี คาดเปิดได้ภายในปี 2568

4.ขยายการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมทั้งในประเทศเมียนมาและเวียดนาม โดยในเมียนมา บริษัทมีแผนขยายจำนวนห้องตรวจและเตียงในโรงพยาบาล Aryu International หลังจากเปิดให้บริการมา 5 ปีและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนในเมืองอื่นเพิ่มเติม ส่วนเวียดนาม เตรียมเปิด BeWell Health and Wellness Clinic สาขาแรก ณ นครโฮจิมินห์ ช่วงต้นไตรมาส 3 ปีนี้

สำหรับผลประกอบการของ THG ในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า มีรายได้รวม 2,337 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6.4 ล้านบาท ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 นั้น ส่วนหนึ่งมาจากผลการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ของโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ และโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง

โรงพยาบาล Aryu International  ประเทศเมียนมา

ทำให้บริษัทมีแผนปรับกลยุทธ์การทำตลาดของจิณณ์ เวลบีอิ้งฯ ด้วยการรุกทำตลาดทั้งในรูปแบบ B2C (Business to Customer) และ B2B (Business to Business) โดยเน้นการขายผ่านตัวแทน (Agency) เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติทั้งจีน ไต้หวัน และ CLMV

อย่างไรก็ดีเชื่อว่าผลประกอบการโดยรวมในไตรมาส 2-3 จะดีขึ้นหลังจากที่หลายโครงการเริ่มทยอยรับรู้รายได้ และกำไร โดยในปีนี้เชื่อว่า THG จะมีรายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 10% หรือมีรายได้รวมมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากปี 2566 ที่มีรายได้รวม 9,844 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 393 ล้านบาท ทั้งตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3-5 ปีต่อจากนี้ THG จะสามารถเพิ่มศักยภาพกลุ่ม รพ.secondary care สู่ super secondary care ได้มากขึ้นด้วย

นายแพทย์ธนาธิป กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ต่อจากนี้จะเติบโตในลักษณะของเชนมากกว่าเติบโตเดี่ยวเพียงลำพัง พร้อมดึงกลุ่มคนไข้ต่างชาติให้เข้ามาใช้บริการเพิ่ม ขณะเดียวกันก็ต้องหาวิธีขยายตลาดใหม่ๆ นอกเหนือการรักษาโรคแบบเดิมๆ ครอบคลุมถึงเรื่อง Wellness ที่กำลังเติบโต และการดูแลผู้สูงอายุที่สอดคล้องบริบทของประเทศไทย

โดยเทรนด์ลงทุนของโรงพยาบาลเอกชนไทยมี 4 เทรนด์ได้แก่ 1.ลงทุนรองรับผู้ป่วยต่างชาติ 2. ลงทุนเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 3.ลงทุนศูนย์แพทย์เพื่อรักษาโรคยากและโรคเฉพาะทาง และ 4.ลงทุนด้านเวชศาสตร์ป้องกัน