นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยแพทย์หญิงศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ เดินหน้าตามมติสหประชาชาติ ในการป้องกันการจมน้ำ โดยเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ให้กับเครือข่ายทีมผู้ก่อการดีและอาสาก่อการดีป้องกันการจมน้ำ เพิ่มอีก 30 จังหวัด เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กและประชาชนในชุมชนทั่วประเทศ มีทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำอีกกว่า 1 แสนคนภายในปี 2567
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนจะมีเด็กจมน้ำสูงมากกว่าช่วงปกติอยู่แล้ว โดยในปีที่ผ่านมา มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม 2566 ถึง 202 คน และกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 68.9) ที่จมน้ำทั้งหมดพบว่าว่ายน้ำไม่เป็น โดยแหล่งน้ำตามธรรมชาติ (บ่อขุดเพื่อการเกษตร แม่น้ำ คลอง) พบว่ามีการจมน้ำมากที่สุด (ร้อยละ 62.8) และร้อยละ 70.5 ของคนที่จมน้ำทั้งหมดจะเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บางพื้นที่ของประเทศไทยมีอากาศร้อนจัดในรอบ 41 ปีที่ผ่านมา ทำให้แนวโน้มคนจมน้ำเสียชีวิตมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น กรมควบคุมโรค จึงเร่งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเพื่อดำเนินมาตรการป้องกันการจมน้ำ ภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างทีมผู้ก่อการดีและทีมอาสาก่อการดีป้องกันการจมน้ำ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นมา
มีผู้ผ่านการอบรมฯ แล้วทั้งสิ้นเกือบ 500 คน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมฯ มาจากเครือข่ายหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ กู้ชีพ กู้ภัย จิตอาสาและมากกว่าครึ่งเป็นกลุ่มมูลนิธิ กู้ชีพ กู้ภัย ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่และเคยช่วยเหลือคนที่ตกน้ำ จมน้ำ จึงได้สมัครใจเข้าร่วมอบรมฯ เพราะเห็นความสำคัญของการป้องกันก่อนเกิดเหตุมากกว่าการช่วยเหลือภายหลังเกิดเหตุแล้ว
นายแพทย์ดิเรก กล่าวต่ออีกว่า การอบรมในครั้งนี้ มุ่งหวังผลลัพธ์ให้เกิดการขยายผลป้องกันการจมน้ำลงสู่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งผู้ผ่านการอบรมฯ ทั้งหมด ได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า ภายในปี 2567 นี้ จะนำความรู้และทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดที่ได้รับ ไปขยายผลให้กับเด็กและประชาชนในพื้นที่ อีกกว่า 158,178 คน ทั่วประเทศ
แพทย์หญิงศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กองป้องกันการบาดเจ็บ ได้รับรายงานการจมน้ำเบื้องต้น เดือนมีนาคม-เมษายน 2567 พบว่ามีเหตุการณ์การจมน้ำ 182 เหตุการณ์ เสียชีวิต 159 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 93 ราย และเหตุการณ์จมน้ำหมู่ล่าสุดที่เกิดขึ้นบริเวณแม่น้ำสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นเด็กอายุ 9-12 ปี จมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน 3 ราย โดยทั้งหมดลงไปเล่นน้ำ หาหอย และว่ายน้ำไม่เป็น
ดังนั้น มาตรการป้องกันการจมน้ำที่สำคัญมาตรการหนึ่งที่ทางมติสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก ให้คำแนะนำไว้ คือ การให้เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปทุกคน มีทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด (ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอด และวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำ) ที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ขอขอบคุณทีมวิทยากรฝึกภาคปฏิบัติจากสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายในการป้องกันการจมน้ำ