ดื่มน้ำกระท่อมเสี่ยงอันตราย พบสารตกค้าง-ปนเปื้อนจุลินทรีย์เกินมาตรฐาน

01 พ.ค. 2567 | 14:00 น.

กรมวิทย์ฯ เปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์น้ำกระท่อม ตั้งแต่ปลดล็อคถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่พบสารไมทราไจนีน ร้อยละ 96.3 และพบการปลอมปนยาแผนปัจจุบัน ปนเปื้อนจุลินทรีย์ และยาฆ่าแมลง เตือนภัยนักดื่ม ดื่มหนัก ดื่มบ่อย เสี่ยงได้รับสารพิษสะสม เป็นอันตรายร่างกาย

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รวบรวมผลการตรวจวิเคราะห์น้ำกระท่อมที่ส่งตรวจ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่เริ่มมีการปลดล็อคพืชกระท่อม พบว่า มีเครื่องดื่มกระท่อมและเครื่องดื่มที่ต้องสงสัย ส่งตรวจทั้งหมด 668 ตัวอย่าง พบสารไมทราไจนีน ร้อยละ 96.3

นอกจากนี้จากข้อมูลผลการวิเคราะห์เชิงปริมาณตัวอย่างน้ำกระท่อม 46 ตัวอย่าง พบปริมาณสารไมทราไจนีนในช่วง 1.32 - 336 มิลลิกรัมต่อลิตรหรือมีค่าเฉลี่ย 101.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมากกว่าปริมาณสูงสุดในการบริโภคต่อวันที่ อย. แนะนำ (ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อวันหรือต่อหน่วยบรรจุ) ซึ่งสารไมทราไจนีนอยู่ในกลุ่มอัลคาลอยด์ (alkaloids) เป็นสารออกฤทธิ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของพืชกระท่อมและเป็นสารที่ผู้บริโภคมุ่งหวังจากเครื่องดื่มกระท่อมเนื่องจากฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาท บรรเทาอาการปวด ต้านการอักเสบ ลดอาการเมื่อยล้า ทำให้มีความอดทนทำงานได้นานขึ้น แต่หากใช้ในปริมาณสูงจะออกฤทธิ์กล่อมประสาทและทำให้เสพติดได้

นอกจากนี้ยังตรวจพบสารชนิดอื่นๆ ที่ผสมกับน้ำกระท่อม ได้แก่ พบสารคลอเฟนิรามีน ร้อยละ 19.6 ไดเฟนไฮดรามีน ร้อยละ 21.6 ซึ่งเป็นยาในกลุ่มแก้แพ้ และคาเฟอีน ร้อยละ 2.9 โดยตรวจไม่พบสารโคเดอีนที่เป็นส่วนผสมในยาแก้ไอในทุกตัวอย่าง 

ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ความปลอดภัยของน้ำกระท่อม ในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำกระท่อมจากทุกภูมิภาคในประเทศไทย จำนวน 52 ตัวอย่าง พบว่าน้ำกระท่อมทุกตัวอย่าง มีปริมาณสารไมทราไจนีนเกินค่าที่ อย. แนะนำ โดยพบในช่วงความเข้มข้น 22.5 - 352.6 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 109.5 มิลลิกรัมต่อลิตร

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

สำหรับสารเสพติดและยาแผนปัจจุบันที่อาจมีการปลอมปนนั้น ไม่พบน้ำกระท่อมที่ผสมสารโคเดอีนแต่พบยาแผนปัจจุบัน ได้แก่ คลอเฟนิรามีน ร้อยละ 10.3 และ ไดเฟนไฮดรามีน ร้อยละ 17.9

ตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 144 สาร พบการตกค้างร้อยละ 23.1 ได้แก่ อะซีทามิพริด ซึ่งเป็นสารเคมีกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ ใช้ป้องกันและกำจัดเพลี้ย ร้อยละ 19.2 คาร์เบนดาซิม ซึ่งเป็นสารกลุ่มเบนซิมิดาโซล ใช้ป้องกันกำจัดเชื้อรา ร้อยละ 3.8 และได้มีการวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยา พบว่า ร้อยละ 80 ของตัวอย่างทั้งหมด มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มมากที่สุด ร้อยละ 79.2 รองลงมาคือ ยีสต์และรา พบในสัดส่วนร้อยละ 59.6 และเชื้ออีโคไล ร้อยละ 19.2 

นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า การนำยา วัตถุดิบ หรือสารออกฤทธิ์ที่ตรวจพบ มาผสมกับน้ำกระท่อมนั้น แม้ว่าจะยังไม่มีการศึกษาความปลอดภัยและประเมินความเสี่ยง 

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำเตือน นักดื่มน้ำกระท่อมการได้รับสารไมทราไจนีนในปริมาณสูง การปลอมปนยาแผนปัจจุบัน การปนเปื้อนจุลินทรีย์ หรือสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง หากบริโภคเป็นระยะเวลานานและมีความถี่ในการบริโภคสูงทำให้เกิดการสะสมในร่างกาย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ นอกจากนี้การดื่มน้ำกระท่อม อาจจะก่อให้เกิดอาการมึนเมาและเกิดการทะเลาะวิวาทได้ เป็นต้น