ผู้สูงอายุเสี่ยง "โรคลมแดด" 7 วิธีป้องกันจากกรมการแพทย์

30 เม.ย. 2567 | 10:30 น.

สภาพอากาศร้อนจัดเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้สูงอายุได้ หากเกิด "โรคลมแดด" กรมการแพทย์ แนะ 7 ขั้นตอนช่วยลดความเสี่ยง พร้อมแนวทางปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมแดดเบื้องต้นเพื่อให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคร้ายนี้

โรคลมแดด (Heatstroke) เกิดจากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมากจนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากร่างกายของผู้สูงอายุมีความสามารถในการปรับอุณหภูมิได้ลดลง ถ้ามีโรคประจำตัวหรือบางรายไม่สามารถดูแลตนเองได้ อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคลมแดด (Heatstroke) เป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมาก จนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน พบได้มากขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่มีสภาพอากาศร้อนจัด โดยผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากขึ้น

เนื่องจากร่างกายของผู้สูงอายุมีความสามารถในการปรับอุณหภูมิได้ลดลง ประกอบกับมักมีโรคประจำตัว หรือบางรายไม่สามารถดูแลตนเองได้ ปกติร่างกายมีการเผาผลาญอาหารและสร้างความร้อนจากภายในตัวตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีการระบายความร้อนออกจากร่างกาย เช่น ทางลมหายใจ ทางปัสสาวะทางผิวหนังร่วมกับต่อมเหงื่อ

เมื่ออยู่บริเวณที่มีอากาศร้อนจัดร่างกายจะระบายความร้อนได้ยาก ทำให้เสียเหงื่อมากขึ้นและร่างกายขาดน้ำมากขึ้น หากไม่ได้รับน้ำทดแทนที่เพียงพอจะเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง อาจเกิดอาการ shock เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

แพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวถึงเกณฑ์การวินิจฉัยอาการป่วยจากโรคลมแดด (Heatstroke) 

1.ร่างกายมีอุณหภูมิสูง ตั้งแต่ 40.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปแต่ไม่มีเหงื่อ หรือบางรายเหงื่อออกมาแต่ตัวเย็นร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่น 

2.มีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น ภาวะสับสน เพ้อ เวียนศีรษะ ตอบสนองช้า หรือ ชัก 

3.อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อน หรือ ออกกำลังกายหนัก 

4. กระหายน้ำมาก 

วิธีลดความเสี่ยงเป็นโรคลมแดดในผู้สูงอายุ 

1.การหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่จะทำให้ร่างกายมีความร้อนสูง 

2. ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี 

3. อยู่ในสถานที่ที่มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ 

4. อาบน้ำเย็นบ่อย ๆ 

5.ดื่มน้ำ (น้ำเปล่า น้ำผัก ผลไม้หรือน้ำเกลือแร่กรณีสูญเสียเหงื่อมาก) ให้เพียงพอ 

6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน 

7. ลดการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น 

ต้องทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างรวดเร็วที่สุด โดยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่ม จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออก แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ประคบตามข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ ใช้พัดลมพัดเพื่อระบายความร้อน และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที