“อภัยภูเบศร”ยันสมุนไพรมีประโยชน์ไม่ส่งผลต่อไตหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม

24 เม.ย. 2567 | 16:29 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2567 | 16:46 น.

“เภสัชอภัยภูเบศร” ยันสมุนไพรมีประโยชน์ ไม่ส่งผลต่อไต หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม แนะผู้ที่มีภาวะไตเสื่อม ควรปรึกษาแพทย์ หลีกเลี่ยงการซื้อสมุนไพรมารับประทานเอง

จากกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้ยาสมุนไพร จะทำให้ไตทำงานหนัก อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้นั้น ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานด้านสมุนไพร ทั้งจากการรวบรวมภูมิปัญญาการใช้จากหมอพื้นบ้าน คนในท้องถิ่น ทำงานในสถานพยาบาลและกับหน่วยงานในต่างประเทศ  มากกว่า 20 ปี ทำให้เข้าใจการใช้สมุนไพรที่แตกต่างไปจากมุมมองของแผนปัจจุบัน 

ทั้งนี้ “สมุนไพร” เป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพของคนท้องถิ่น ที่มีการใช้ได้หลากหลายทั้งการใช้ชิ้นส่วนพืชแบบสด แบบแห้ง หรือใช้ในหลากหลายรูปแบบทั้งต้ม ฝน ปั้นเป็นเม็ด ปัจจุบันก็มีแบบแคปซูล รวมถึงใช้ได้ทั้งเป็นอาหาร แบบกินให้อร่อย กินเพื่อบำรุงร่างกายหรืออวัยวะต่างๆ ให้แข็งแรง หรือ กินเพื่อเป็นยารักษาความเจ็บป่วย ซึ่งต่างจากมุมของแผนปัจจุบันจะมองถึงการกินเป็นเม็ดๆ ขนาดการกินชัดเจน เพื่อรักษาโรคใดโรคหนึ่ง

ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวอีกว่า วัฒนธรรมการดูแลสุขภาพนี้ไม่ได้มีเฉพาะเมืองไทยเท่านั้น หากแต่หลายประเทศ ทั้งเอเชีย ยุโรป แอฟริกา อเมริกาใต้ หรือ แม้แต่ชนกลุ่มน้อยในทวีปอเมริกาเหนือก็มีองค์ความรู้เหล่านี้ 

ตัวอย่างที่อยากจะยกให้เห็นคือ หญ้าหนวดแมว ที่มีคนออกมาพูดว่ากินมากแล้วไตจะวาย ในวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนหญ้าหนวดแมวในปริมาณน้อยๆ ก็นำมาต้มกิน เพื่อทำความสะอาดทางเดินปัสสาวะ กินบ้างลืมบ้าง ซึ่งในอินโดนีเซียก็มีการใช้หญ้าหนวดแมว ภายหลังที่มีชาติตะวันตกที่มาล่าอาณานิคมเห็นประโยชน์ก็นำกลับไปใช้ จนปัจจุบันหญ้าหนวดแมวบรรจุในตำรายาของเยอรมันที่เรียกว่า Commission E ในนามของ Java tea หรือชาที่มาจากชวา

“ดังนั้นท่านที่มีการทำงานของไตที่ดี หรือ มีค่าการกรองของไตมากกว่า 60 mL/min/1.73m2  หากใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง ในปริมาณ และระยะเวลาที่เหมาะสม เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้รับรองอย่างถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก็ปลอดภัย เพราะก็มีรายงานในต่างประเทศเรื่องการปนเปื้อนของโลหะหนักในผลิตภัณฑ์สมุนไพรแล้วทำให้เกิดไตวาย ดังนั้นสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ หรือการปลูกใช้เองก็เป็นทางเลือกที่ดี“ 

อย่างไรก็ตาม ดร.ผกากรอง กล่าวว่า ถ้าต้องการให้สุขภาพแข็งแรงการกินแบบอาหารนั้น เป็นสิ่งที่ปลอดภัย ไม่กินเข้มข้น หรือในปริมาณสูงติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น เพราะในสมุนไพรรวมถึงพืชบางชนิดก็มีสารที่ทำให้เกิดอันตรายต่อไตได้หากกินในปริมาณสูง 

เช่น สมุนไพรที่มีออกซาเลตสูง  เช่น มะเฟือง ตะลิงปลิง มันสำปะหลัง ผักโขม โกฐน้ำเต้า บีทรูท เผือก ผักแพว ปวยเล้ง ซึ่งการปรุงผ่านความร้อนจะช่วยลดปริมาณกรดออกซาเลตได้ การกินดิบไม่ผ่านความร้อน สามารถจับกับแคลเซียมจากอาหาร ทำให้เกิดนิ่วในไตได้  

หรือแม้กระทั่งการการรับประทานวิตามินซีในขนาดสูง ก็มีรายงานการทำให้เกิดนิ่วออกซาเลตในไตได้เพิ่มขึ้น หรือ แม้กระทั่งลูกเนียง กินปริมาณมากๆ “กรดแจงโคลิก” ในลูกเนียงก็อาจตกตะกอนและอุดตันในท่อไตจนถึงขั้นทำให้ไตวายเฉียบพลันได้  ดังนั้นทุกอย่างต้องอยู่บนความพอดี  

ส่วนกรณีของ “ไคร้เครือ” ที่มี กรดเอริสโทโลคิก  ทำให้เกิดภาวะไตอักเสบ ซึ่งไคร้เครือเองก็เคยเป็นส่วนประกอบในยาไทยหลายตำรับ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ให้ผู้ผลิตยาถอดไคร้เครืออกจากตำรับแล้ว ดังนั้นผู้ที่ใช้ยาตำรับแผนไทย ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องไคร้เครืออีกต่อไป  

“สิ่งที่ประชาชนต้องรู้อีกอย่างคือ ไม่ใช่แค่เพียงสมุนไพร อาหารหรือยาแผนปัจจุบันเท่านั้นที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต  แต่โรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยเป็นอยู่  ก็ส่งผลต่อการทำงานของไตได้  ดังนั้นในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  ถึงแม้ค่าไตจะดีก็ต้องหมั่นตรวจติดตามเสมอ” 

ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวด้วยว่า ในส่วนของผู้ที่มีการทำงานของไตที่ไม่ดี ควรหลีกเลี่ยงการซื้อสมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รับประทานเอง หรือ มีความจำเป็นต้องรับประทานจริงๆ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ หรือ เภสัชกรก่อนใช้ เพื่อช่วยพิจารณาว่าสามารถรับประทานได้หรือไม่ เพราะมีประเด็นที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและอาจส่งผลให้ไตทำงานแย่ลงได้ 

โดยเฉพาะเรื่องของยาตีกัน เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วย โรคไตวายจะได้รับวิตามิน หรือ เกลือแร่เสริมจากแพทย์ ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ หรือสมุนไพร ที่ใช้มีส่วนประกอบของเกลือแร่ผสมอยู่ในปริมาณสูง ก็อาจทำให้เกลือแร่ชนิดนั้นๆ ในร่างกายสูงขึ้นได้ และอาจเสี่ยงต่อการทำงานของไตที่มากขึ้นด้วย

ในผู้ป่วยไตวายระยะท้าย ก็ต้องระวังการกินผลไม้ หรือสมุนไพรที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ส้ม สัปปะรด นํ้าลูกยอ หญ้าหนวดแมว หญ้าดอกขาว ใบขี้เหล็ก และผู้ป่วยมัก เริ่มมีอาการแสดงของโรคไตเรื้อรัง เช่น ขา หรือ เท้าบวม ปัสสาวะออกลดลงแพทย์จะจ่ายยากลุ่มขับปัสสาวะ เพื่อช่วยบรรเทาอาการ ซึ่งต้องระวังการใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะร่วมกัน เพราะอาจ ทำให้เกิดภาวะขาดนํ้าจนนำไปสู่ไตวายเฉียบพลันได้ เช่น หญ้าไผ่นํ้า หญ้าพันงู รากหญ้าคา

นอกจากนั้นแล้ว ในกรณีของผู้สูงอายุที่มีภาวะไตเสื่อม ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติที่พบได้นั้น เพราะอวัยวะต่างๆ ในร่างกายจะเกิดการเสื่อมสภาพตามอายุของเราที่เพิ่มขึ้น

ไตก็เช่นเดียวกัน ซึ่งปกติแล้วอัตราการกรองของเสียที่ไต ลดลงในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี หลังอายุ 30 ปี ซึ่งสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติโดยไม่จำเป็นต้องรักษา หรือใช้ยาใดๆ 

เพราะการทำงานที่ลดลงเป็นไปอย่างช้าๆ จนไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายโดยรวม ผู้สูงอายุควรหันไป ใส่ใจเรื่องการกินอาหาร  ลดการกินเค็ม หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาแก้ปวด ยาชุด หรือยาสมุนไพรกินเอง 

ในส่วนของสมุนไพร ก็เลือกกินเป็นส่วนผสมของอาหาร  กินบ้างหยุดบ้างหมุนเวียนกันไป ในปริมาณปกติเหมือนคนทั่วไปกินสามารถทำได้ แต่ไม่ควรกินอะไรเป็นประจำ ไม่ต้มเคี่ยว ดื่มต่างน้ำ ขนาดและปริมาณการใช้ที่เหมาะสมควรปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ