เปิด 57 รายชื่อสมุนไพรหายากอัตลักษณ์ประจำจังหวัด

02 เม.ย. 2567 | 15:10 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2567 | 15:15 น.

กรมแพทย์แผนไทย เคาะ 57 ชื่อสมุนไพรหายากเป็นอัตลักษณ์ประจำจังหวัด คาดได้ครบทุกจังหวัดภายใน 1-2 เดือนนี้ เดินหน้าส่งเสริมปลูกแปลงใหญ่ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ 

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมาที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมนั้น ได้มีการจัดนิทรรศการแสดงเรื่องเมืองสมุนไพรและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึง สมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัด โดยล่าสุดผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการด้านวิชาการกำหนดชนิดสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัดแล้วจำนวน 57 จังหวัด และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 19 จังหวัด 

โดยล่าสุด นายสมศักดิ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการส่งเสริมสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัดว่า ถ้ามีสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัดจะหาเงินช่วยชาวบ้านในการปลูกให้เป็นแปลงที่ใหญ่ขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ต้องมีการหารือกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้บอกกับ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่า จังหวัดไหนที่มั่นคงมีเอกลักษณ์แล้วให้หาพื้นที่ลองปลูกนำร่องหรือแจกกล้า เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาชนเห็นว่า เราพร้อมที่จะเดินหน้าในเรื่องนี้ ส่วนการส่งเสริมไปจนถึงการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ นั้นจะต้องมาจัดทำต่อยอดผลิตภัณฑ์และทำแผนการส่งเสริมการตลาดต่อไป

ตัวอย่างสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัดต่าง ๆ 

ภาคเหนือ

เชียงใหม่ - กัญชง

แม่ฮ่องสอน - บุกไข่ 

เชียงราย - ส้อมป่อย

ลำพูน - เปล้าใหญ่ 

ลำปาง - กวาวเครือ

พะเยา - เพชรสังฆาต 

แพร่ - กลอย

น่าน - มะแขว่น

ตาก - ขมิ้นชัน 

สุโขทัย - เพกา 

พิษณุโลก - ส้มซ่า

กำแพงเพชร - สมอพิเภก

เพชรบูรณ์ - ขิง

พิจิตร - ฟ้าทะลายโจร

ภาคกลาง

ชัยนาท - มะตูม

นครปฐม - กระชาย

นนทบุรี - หน่อกะลา

ปทุมธานี - บัวหลวง

พระนครศรีอยุธยา - ผักเสี้ยนผี

ลพบุรี - ฟ้าทะลายโจร

สมุทรปราการ - เหงือกปลาหมอดอกม่วง

สมุทรสาคร - เหงือกปลาหมอดอกขาว

สมุทรสงคราม - เกลือสมุทร

สุพรรณบุรี - ว่านพระฉิม

อุทัยธานี - คนฑา

อ่างทอง - ข่าตาแดง

ภาคใต้

กระบี่ - กระท่อม

ชุมพร - มะเดื่ออุทุมพร

ตรัง - หัวร้อยรู และพริกไทย

นครศรีธรรมราช - จันทน์เทศ

นราธิวาส - คนที

ปัตตานี - ปลาไหลเผือก

พัทลุง - ไพล

ภูเก็ต - ส้มควาย

สงขลา - กระท่อม

สุราษฎร์ธานี  - ขมิ้นชัน

ภาคตะวันตก

กาญจนบุรี - มะขามป้อม

ประจวบคีรีขันธ์ - ว่านหางจระเข้

ราชบุรี - ขมิ้นอ้อย

เพชรบุรี - หัวเข่าคลอน

ภาคตะวันออก

จันทบุรี - กระวาน และพริกไทย

ปราจีนบุรี - ฟ้าทะลายโจร

ทั้งนี้ นางสาวกมลทิพย์ สุวรรณเดช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงขั้นตอนที่ใช้เป็นแนวทางการพิจารณาเลือกสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัดว่า กำหนดให้แต่ละจังหวัดที่รู้ข้อมูลพื้นที่ของตัวเองคัดเลือกขึ้นมาก่อนว่า สมุนไพรตัวไหนที่มีค่าและพบได้มาก เป็นพืชเศรษฐกิจ หรือพบหายาก มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ส่งมาให้ จากนั้นจึงจะไปดูว่า ที่เลือกมานั้น ใช่หรือไม่ หรือตัวไหนที่น่าจะเป็นสมุนไพรอัตลักษณ์มากกว่าก็จะให้ข้อมูลทางด้านสารสำคัญ งานวิจัยเข้าไป

ยกตัวอย่างเช่น "หัวร้อยรู" เป็นสมุนไพรหายากของจังหวัดตรังและใช้ทางยารักษาโรคมะเร็งมีเฉพาะในธรรมชาติเท่านั้น มีการปลูกที่ยากมากจึงให้ หัวร้อยรู เป็นสมุนไพรอัตลักษณ์ของตรังโดยมีแผนว่า จะทำอย่างไรให้ลดการเก็บจากธรรมชาติแล้วหันมาส่งเสริมการปลูกทดแทนในธรรมชาติ เป็นต้น 

คณะอนุกรรมการด้าานวิชาการกำหนดชนิดสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำจังหวัดได้พิจารณาแล้ว 57 จังหวัด ส่วนอีก 19 จังหวัดกำลังพิจารณาคาดว่า จะคัดเลือกได้ภายใน 1-2 เดือนนี้