จากกรณีที่ สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่น (NIID) ยืนยันพบการแพร่เชื้อกระจายจากคนสู่คนเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นด้วยโรคภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือ ที่เรียกว่า โรคเห็บ ( Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome : SFTS) ซึ่งตามรายงาน ผู้ติดเชื้อเป็นแพทย์ชายอายุประมาณ 20 ปีซึ่งสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัย 90 ปีซึ่งเดินทางมาที่โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาฉุกเฉิน เนื่องจากมีอาการเบื่ออาหาร มีไข้ และเคลื่อนไหวลำบาก ต่อมาผู้ป่วยวัย 90 ปีได้เสียชีวิตลง
โรคนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้หลายปี กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ได้เคยแถลงกรณีพบผู้ป่วยหญิงวัย 51 ปี ติดเชื้อไวรัส SFTS เสียชีวิตมาแล้วซึ่งการเสียชีวิตของผู้ป่วยรายนี้นับเป็นครั้งแรกของโลกที่เกิดการติดเชื้อชนิดนี้จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาสู่มนุษย์ โดยผู้เสียชีวิตไม่ได้ถูกเห็บกัดโดยตรงแต่ติดเชื้อจากการสัมผัสแมวจรจัดที่ป่วยอยู่
จากการตรวจสอบพบว่า หญิงคนดังกล่าวถูกแมวจรจัดที่ป่วยอยู่กัด ขณะพยายามอุ้มแมวที่ดูไม่มีแรงส่งโรงพยาบาลสัตว์ จากนั้นหญิงคนดังกล่าวได้ล้มป่วยและเสียชีวิตในอีก 10 วันต่อมา เนื่องจากติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการไข้สูงและเกล็ดเลือดต่ำ (Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome - SFTS)
ข้อมูลของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย อธิบายเกี่ยวกับโรคนี้ว่า โรค SFTS เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ severe fever with thrombocytopenia syndrome virus (SFTSV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสใหม่ชนิด RNA มีเห็บ (tick) เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ พบได้มาก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
โดยอุบัติการณ์การเกิดโรคสูงสุดในประเทศจีน (0.12 – 0.73 ต่อแสนประชากร) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ (0.07 ต่อแสนประชากร) และญี่ปุ่น (0.05 ต่อแสนประชากร) ตามลำดับ มีอัตราการเสียชีวิต 5.3% ยังไม่มีรายงานโรคนี้ในประเทศไทย
โรค SFTS มีสาเหตุในการแพร่เชื้อจากเห็บ ที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ชนิดของเห็บที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ คือ H.longicornis ส่วนสัตว์ที่เป็นรังโรค ได้แก่ แพะ แกะ หมู วัว ควาย สุนัข ไก่ นกบางชนิด หนู และสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ แต่ยังไม่มีหลักฐานการก่อโรคในสัตว์
อาการของโรค SFTS
หลังถูกเห็บกัด มีไข้สูงราว 5-11 วัน , ปวดศีรษะ , อ่อนเพลีย, ปวดกล้ามเนื้อ, ต่อมน้ำเหลืองโต, มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง
เมื่อตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล พบว่าเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ และมีระดับไวรัส (viral load) สูง เมื่อเข้าสู่วันที่ 5 เป็นต้น อาจพบอวัยวะบางอย่างทำงานไม่ปกติ เช่น ตับ หัวใจ ปอด และไตมีอาการเลือดออก ระบบประสาททำงานผิดปกติ เป็นต้น
การรักษาโรค SFTS
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค SFTS โดยตรง เป็นเพียงการรักษาไปตามอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้โดยตรงเช่นกัน แม้ว่าจะอันตรายถึงเสียชีวิตได้ แต่ยังมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ไม่สูงนัก หากร่างกายเดิมค่อนข้างแข็งแรง มีภูมิต้านทานดีพอสมควร และไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ หรือกำลังรับยาลดภูมิต้านทานโรคอยู่ รวมถึงเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ก็ยังสามารถรักษาให้หายจากโรคนี้ได้
วิธีการป้องกันโรค SFTS
ระมัดระวังอย่าให้โดนเห็บกัด ไม่คลุกคลีกับสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิดมากเกินไป ตรวจสุขภาพ เช็กความสะอาดของสัตว์เลี้ยงในบ้านให้ อย่าให้มีเห็บหมัดต่างๆ และหากถูกเห็บกัด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง