จากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2567 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า โดยมี รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม โดยในที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการอนุมัติการใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
โดยสำนักอนามัยได้จัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 หรือมีอายุระหว่าง 7 – 9 ปี ในโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 437 แห่ง ที่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง จำนวน 82,534 คน (School-base) ซึ่งจะให้บริการฉีดวัคซีนระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 67
พร้อมกันนี้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานให้วัคซีนป้องกันไวรัส HPV ตามนโยบายเร่งรัด 100 วัน ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในระยะ Quick Win
ทั้งนี้ สำนักอนามัย ได้บริหารจัดการวัคซีนที่ได้รับจากสาธารณสุข ตั้งแต่เดือน พ.ย. 66 – 11 ก.พ. 67 มีผู้ได้รับวัคซีนจำนวน 147,348 คน โดยในระยะถัดไปจะดำเนินการฉีดต่อเนื่องในรูปแบบวัคซีนนักเรียน (School-based vaccination) และ Walk in ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ในวันพุธ เวลา 13.00 -15.00 น. และโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์
ขณะที่สถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญในพื้นที่ กทม. ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ข้อมูลหลังยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ในปี 2566 มีผู้ป่วยรวม 169,780 คน ปี 2567 มีผู้ป่วย 40,579 คน
ทั้งนี้ สำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุขได้รับจัดสรรวัคซีน โควิด -19 จากกรมควบคุมโรค จำนวน 2 รายการ
1. วัคซีน Pfizer ฝาสีแดง สำหรับอายุ 6 เดือน – 5 ปี หมดอายุ 31 มีนาคม 2567
2. วัคซีน Pfizer ฝาสีเทา สำหรับอายุ 5 ปีขึ้นไป หมดอายุ 28 กุมภาพันธ์ 2567 (เป็นวัคซีนล็อตสุดท้าย)
ส่วนของโรคไข้หวัดใหญ่ ปี 2566 มีการระบาดมากในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. พบว่า ระบาดมากในกลุ่มเขตกรุงเทพกลางและกรุงเทพใต้ และส่วนใหญ่อายุ 5 -14 ปี รวมถึงรายงานสถานการณ์โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อฝีดาษวานร
สำหรับการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อเนื่องข้ามปีในพื้นที่ กทม. ปี 67 กทม. เปิด ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ในพื้นที่เขต 16 เขต ได้แก่
ให้สำนักงานเขตทุกเขตดำเนินการวางแผนทำ Big cleaning ร่วมกับ ศบส. ทุกสัปดาห์ต่อเนื่อง เฝ้าระวังลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง ประชาสัมพันธ์/สื่อสารความเสี่ยง และควบคุมโรคเมื่อพบผู้ป่วยทันที และดำเนินมาตรการการดำเนินการโรคไข้เลือดออกในชุมชนจัดตั้ง
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยโรคพิษสุนัขบ้า โดยวัตถุประสงค์ของหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานเพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า เป็นขั้นตอนของการประกาศพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และเพื่อเป็นรายการตรวจสอบการดำเนินงานเพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร