BDMS เปิดกลยุทธ์ ผู้นำความยั่งยืน กลุ่มเฮลท์แคร์

18 ก.พ. 2567 | 15:13 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2567 | 15:15 น.

เปิดกลยุทธ์ BDMS เดินหน้าสู่ต้นแบบด้านความยั่งยืน ในกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ บริการทางการแพทย์และกลุ่มตลาดเกิดใหม่จาก S&P Global ก้าวสู่ Net Zero ในปี 2050

แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจด้านการแพทย์ในปัจจุบันยังมีความท้าทายจากการบริหารจัดการด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่มีความขาดแคลน และการบริหารจัดการกระบวนการบริการการแพทย์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมทางการแทย์ เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อลดภาระงานของแพทย์ และเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค รวมถึงการใช้นวัตกรรมสีเขียว เพื่อติดตามการใช้พลังงาน และปรับให้เกิดความสมดุล จะส่งผลให้เกิดการสร้างมลพิษน้อยที่สุด

สิ่งท้าทายสำคัญ คือ การรักษาสมดุลในการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม และการรักษามาตรฐานด้านบริการ และความปลอดภัยทางการแพทย์ รวมถึงการวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการใช้นวัตกรรมสีเขียว ส่งมอบการบริการการแพทย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการคงค่าใช้จ่ายโดยไม่ผลักภาระสู่ผู้รับบริการ เพื่อให้สามารถส่งมอบการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณค่าให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงได้

สำหรับการดำเนินงานในปี 2567 – 2569 BDMS ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนทั้ง 3 มิติ โดยด้านสิ่งแวดล้อมจะเน้นการก้าวสู่ Net Zero ในปี 2050 ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เน้นหลักด้านจัดการขยะจากโรงพยาบาล ด้วยการ upcycling ถุงน้ำเกลือ เพื่อผลิตเป็นชุด PPE นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาโรงงานยา และน้ำเกลือของธุรกิจในเครือ ซึ่งถือเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของการบริการการแพทย์ เพื่อพัฒนาเป็นระบบอุตสาหกรรมสีเขียว

ในด้านสังคม ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ทั้งบุคลากรภายใน พันธมิตรธุรกิจ และชุมชนโดยรอบ เพื่อให้ความเป็นอยู่ที่ดี สามารถเข้าถึงบริการการแพทย์และการดูแลสุขภาพได้อย่างเสมอภาค ผ่านโครงการอบรมทักษะการช่วยชีวิต การใช้ Tele mental Health ดูแลสุขภาพใจ เน้นในกลุ่มสถานบันการศึกษาซึ่งเป็นแหล่งรวมของเหล่าคนรุ่นใหม่ เป็นอนาคตของชาติ และพันธมิตรทางธุรกิจ ที่เป็นกำลังสำคัญในห่วงโซ่อุปทานสำหรับธุรกิจการแพทย์

ปัจจุบันบริษัททั่วโลกให้ความสำคัญกับการบริหารและจัดการองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่ง BDMS เริ่มจากการผ่านเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ THSI (Thailand Sustainability Investment) หรือหุ้นยั่งยืน แล้วตั้งเป้าหมายไปสู่ DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) หรือดัชนีชี้วัดความยั่งยืนในระดับสากล กระทั่งพิจารณาแล้วว่าในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ยังไม่มีบริษัทใดที่เป็นต้นแบบของความยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจ Healthcare

 

BDMS เปิดกลยุทธ์ ผู้นำความยั่งยืน กลุ่มเฮลท์แคร์

ฉะนั้น BDMS จึงขับเคลื่อนให้ทั้งองค์กรผ่านการสื่อสารในทุกระดับ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการในหลายมิติ ซึ่งได้ดำเนินการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยการรวบรวมข้อมูลภายในองค์กรทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล กระทั่งพบว่ามีบางส่วนที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วจากโรงพยาบาลทั้งหมด 50  กว่าแห่งทั่วประเทศ และ S&P Global ก็มีเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนอยู่บนพื้นฐาน 3 ข้อ คือ หลักการ ESG ได้แก่ 1. มิติด้านเศรษฐกิจ 2. มิติด้านสิ่งแวดล้อม และ 3. มิติด้านสังคม

ฉะนั้น BDMS จึงได้กำหนดกรอบการดำเนินงาน เพื่อใช้ในการสื่อสารแนวปฏิบัติสำหรับองค์กรธุรกิจในเครือ รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง พร้อมได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมในมิติ ESG ดังนี้

  • มิติด้านเศรษฐกิจ คือร่วมพัฒนานวัตกรรม สร้างขีดความสามารถการรักษาพยาบาล เพื่อส่งคืนคุณค่าสู่สังคม ด้วยการปรับตัวสู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ และมุ่งสู่การเป็นผู้นำการให้บริการด้านสุขภาพนวัตกรรมครบวงจร โดยตอบสนองความคาดหวังของกลุ่มผู้รับบริการที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ตามหลักการพัฒนาธุรกิจสุขภาพอย่างยั่งยืน อาทิเช่น การพัฒนา BeDee Telehealth platform เพื่อบริการการแพทย์และดูแลสุขภาพอย่างทัน่วงที 24 ชั่วโมง 7 วัน โดยผู้เชี่ยวชาญจาก BDMS เสมือนการเข้ารับบริการในโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล, นวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยเทคนิคใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ (Direct Anterior Approach Hip Replacement หรือ DAA) ส่งคืนประโยชน์ด้านสุขภาพแก่ประชาชนชาวไทย ลดระยะเวลาวันนอนพักรักษาตัว มากกว่า ร้อยละ 50 การฟื้นตัวรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้มีการอบรมความรู้นวัตกรรมการผ่าตัดที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับ ทั้งมหาวิทยาลัยในไทย และต่างประเทศ กว่า 20 แห่ง
  • มิติด้านสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดเกณฑ์ BDMS Green Healthcare มุ่งสู่ Net Zero โครงการ BDMS Green Healthcare จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อที่เป็นข้อกำหนดการจัดการสิ่งแวดล้อมของ BDMS และส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดําเนินธุรกิจ สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ผ่านกลไลการกำหนดเกณฑ์การประเมินการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในกลุ่มโรงพยาบาล และหน่วยงานในเครือ BDMS โดยดำเนินการเป็นปีที่ 3 ครอบคลุมมากกว่า ร้อยละ 50 ของกลุ่มธุรกิจ
  • มิติด้านสังคม ส่งเสริมความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ด้ายการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล มุ่งส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับบุคลากร และการดำเนินการเคารพสิทธิมนุษยชน (Human Rights) รอบด้านอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยปีที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นการสร้างความเท่าเทียม ไม่แบ่งแยก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเทียมในแต่ละสาขาวิชาชีพ หมอ พยาบาล พนักงานสนับสนุน เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน 

นอกจากนี้ BDMS ยังตระหนักถึงความสำคัญในการขยายโอกาสในการเข้าถึงการสาธารณะสุขที่มีคุณภาพ โดยนำองค์ความรู้ขององค์กรผ่านการจัดโครงการเพื่อสังคม “BDMS อบรมการช่วยชีวิต” ซึ่งอบรมแก่ผู้มีส่วนได้เสียครอบคลุมทั่วประเทศไทย มากกว่า 60,000 ราย โดยร่วมกับมูลนิธิเวชดุสิตฯ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและมอบโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาผ่าน “โครงการอิ่มบุญ” และ “โครงการผ่าเข่าในกลุ่มผู้ป่วยยากไร้” มากกว่า 180 เข่า ทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาล “โครงการเวชดุสิต ปลูกต้นกล้า สร้างพยาบาล” มากกว่า 70 ทุน 

BDMS เปิดกลยุทธ์ ผู้นำความยั่งยืน กลุ่มเฮลท์แคร์

จากการสื่อสารและความร่วมมือการพัฒนายั่งยืนที่มีประสิทธิภาพในทุกมิติ ส่งผลให้ BDMS สามารถวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมขององค์กร ประกอบกับการประเมินจากองค์กรภายนอก เช่น DJSI ทำให้เห็นจุดที่สามารถพัฒนาเพิ่มเติมและความเสี่ยงที่อาจเกิด สามารถวางแผนการพัฒนาองค์กรธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างมีทิศทางและมั่นคง โดยโครงสร้างการบริหารจัดการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นระบบของ BDMS เริ่มจากการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย ผู้แทนจากผู้บริหารในทุกกลุ่มธุรกิจ และทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง เพื่อกลั่นกรอง และกำหนดเป้าหมาย และนโยบาย เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังเปิดพื้นที่เพื่อกระตุ้นให้พนักงานในทุกระดับได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อความยั่งยืน ผ่านเวที BDMS Awards ประกอบด้วย การอบรมความรู้ด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และการบ่มเพาะโครงการนวัตกรรมด้านความยั่งยืน รวมถึงโครงการนวัตกรรมสีเขียว และการมีส่วนร่วมต่อชุมชน เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม  โดย BDMS Awards ได้จัดการประกวดอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี โดยในปี 2567 ได้โครงการเข้าร่วมจากทุกกลุ่มธุรกิจมากกว่า 700 โครงการ

จากการกำหนดกลยุทธ์ของภาครัฐที่มุ่งพัฒนาประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่การเป็น Global Medical  Hub และจากกระแสความสนใจด้านสุขภาพในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ถือเป็นหนึ่งในโอกาสสำคัญที่ธุรกิจด้านการแพทย์และบริการสุขภาพจะสามารถพัฒนามาตรฐานการบริการ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้รับบริการ เพื่อประสบการณ์ที่เป็นเลิศอย่างไรก็ตาม

ส่วนด้านเศรษฐกิจ มุ่งกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรม ทั้งจากการส่งเสริมการวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการ ควบคู่กับการรวมมือกับคู่ค้า เพื่อการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสีเขียว พัฒนากระบวนการทำงาน ลดการเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลทางธุรกิจด้วย