รพ.กรุงเทพ หาดใหญ่ ปรับทิศสู่ Smart Hospital

11 ก.พ. 2567 | 12:52 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2567 | 13:16 น.
868

ชี้เทรนด์ธุรกิจเฮลท์แคร์แดนใต้คึกคัก “รพ. กรุงเทพหาดใหญ่” ปรับทิศสยายปีกสู่ Smart Hospital เดินหน้า 3 Core ทั้ง New Clinical Program - New Trend - New Channel ดันรายได้ 3,000 ล้าน ในปี 70 หวังรองรับ Medical Tourism ทั้งอินโดฯ มาเลย์ เมียนมา อาหรับ

ผศ.นพ.กฤตย์อังกูร เชษฐเผ่าพันธ์ กรรมการผู้จัดการและอำนวยการ โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันธุรกิจเฮลท์แคร์ในพื้นที่ภาคใต้ มีผู้เข้ามารับบริการในส่วนของการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพมากขึ้น และเห็นชัดเจนว่าการดูแลแบบส่งตรงถึงบ้านเริ่มได้รับความนิยม เช่น เรื่องเกี่ยวกับอาหาร การรับยา การปฎิบัติรักษาโรค ทำให้โรงพยาบาลต้องตั้งรับและรองรับกับการทำงานทุกภาคส่วน และปัญหาสุขภาพของคนในภาคใต้มักพบกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable Diseases) เป็นจำนวนมาก ถือเป็นปัญหาที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันให้เข้าถึงการรักษาให้มากขึ้น

ดังนั้น หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ เร่งพัฒนาและปรับเปลี่ยนองค์กร เพื่อให้กระบวนการทำงานต่างๆ รวดเร็วยิ่งขึ้น และประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สำหรับแผนงานนับจากนี้ เป้าหมายของโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่คือ จะมีรายได้ 3,000 ล้านบาทภายในปี 2570 พร้อมก้าวสู่การเป็น Smart Hospital ร่วมกับสร้างมูลค่าทางด้าน Healthcare ซึ่งจะสะท้อนคุณค่าให้ธุรกิจเติบโตด้วยคอนเซ็ปต์ 3 CORE ได้แก่

  1. New Clinical Program การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยนำ AI มาช่วยใช้บริการ
  2. New Trend คือการใช้ IT เทคโนโลยีเข้ามาดูแลหลากหลายช่องทาง ทั้งการส่งยาถึงบ้าน พูดคุยกับผู้ป่วยทางไกล
  3. New Channel คือกลุ่มลูกค้าใหม่ครอบคลุมทั่วภาคใต้ และในปี 2567 ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเดินหน้า 2 แผนงานคือ

แผนงานที่ 1. Growth Strategy 2024 มี 3 มิติได้แก่

  1. พัฒนาและจัดทำ Advanced Clinical Program ที่ครอบคลุมการส่งเสริมการป้องกันโรค เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีและส่งมอบบริการที่มีคุณค่าให้ผู้ใช้บริการ สร้างรายได้ตามเป้าหมาย
  2. เพิ่มการเติบโตของตลาดกลุ่ม Inter marketing ด้วย Medical & Wellness tourism ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ชาว Siam-Malaysia เมียนมา อาหรับ เพื่อสร้างรายได้และเพิ่มจำนวนผู้รับบริการตามเป้าหมาย
  3. พัฒนาและออกแบบบริการใหม่ ครอบคลุมตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการรักษา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้รับบริการให้กลับมาใช้ซ้ำและบอกต่อ

แผนงานที่ 2. Sustainability Strategy มี 2 มิติ ได้แก่

  1. พัฒนาการทำงานและดูแลผู้ป่วยโดยใช้ Digital Technology ในส่วนของ GPS Tracking, Screeing Program, Virtual-follow up และ Auto-consultation เพื่อรองรับการเจริญเต็มโต
  2. Organization Transformation ทั้งด้าน People Transformation และ Digital Transformation มุ่งสู่การเป็น High-Performance Organization : Health care intelligence

รพ.กรุงเทพ หาดใหญ่ ปรับทิศสู่ Smart Hospital

ผศ.นพ.กฤตย์อังกูร กล่าวว่า โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ อยู่ในเขตพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซีย มีแนวโน้มและทิศทางการเติบโตสอดคล้องไปกับนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศสร้างแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้หรือปัจจุบันคือระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ รวมถึงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) เป็นส่วนสำคัญอีกด้านที่โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่จะพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับคนไข้จากมาเลเชียด้วย คาดว่าจะช่วยผลักดันรายได้ในอีก 3 ปี ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทต่อปี

โดยโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในจังหวัดสงขลาที่มีรายได้ถึงหลักพันล้าน มีความเชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจ โรคกระดูกและข้อ และโรคสมอง หากได้รับการสนับสนุนจากเครือ BDMS และทุกภาคส่วนจะช่วยให้เพิ่มสัดส่วนในการดูแลคนในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น

ทั้งนี้ โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ เปิดให้บริการมาแล้ว 26 ปี เป็น 1 ใน 58 โรงพยาบาลจากเครือ BDMS หรือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด โดดเด่นเรื่องการดูแลรักษาโรคหัวใจ มีศูนย์หัวใจพร้อมเครื่องมือทันสมัยและครบวงจรที่สุดในแห่งหนึ่งในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ทั้งห้องศูนย์หัวใจ ห้องผ่าตัด มีแพทย์อายุรกรรมทางด้านหัวใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทีมผ่าตัดทางด้านการสวนหัวใจ สามารถรองรับผู้ป่วยในภาคใต้ได้อย่างครอบคลุมทั้งผู้ป่วยในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะใน 7 จังหวัด ได้แก่นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และพัทลุง ส่วนต่างประเทศได้แก่ มาเลเซีย และกลุ่มนักท่องเที่ยวนักธุรกิจที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสงขลา

ปัจจุบันมีสามารถรองรับผู้ป่วยอยู่ 180 เตียง บุคลากรทั้งหมด 700 คน มีผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วย OPD เฉลี่ย 600 รายต่อวัน ผู้ป่วยในหรือ IPD ประมาณ 120-150 รายต่อวัน สัดส่วนเป็นคนไทย 95% ชาวต่างชาติ 5% โดยจะเน้นไปยังตลาดกลางไปถึงตลาดบน และผู้ป่วยมากกว่า 70% เป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีสิทธิประกัน ถัดมากเป็นกลุ่มอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปที่ต้องได้รับการดูแลต่ออย่างเนื่อง อาจจะขาดแคลนพยาบาลและบุคลากรดูแลผู้ป่วยอยู่บ้าง แต่มีศักยภาพเพียงพอและมีคุณภาพพร้อมรองรับผู้ป่วยทุกกลุ่ม

นอกจากนี้ยังเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่ร่วมมือกับภาครัฐและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงไปช่วยผู้ป่วยโรคหัวใจในพื้นที่ เช่น กลุ่มข้าราชการที่มีสิทธิต่าง ๆ กลุ่มผู้ป่วยทั่วไปที่มีสิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) หรือ สิทธิการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินเพื่อให้เข้าถึงบริการอย่างรวเร็วและฉับไว ให้พ้นวิกฤตจนสามารถคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย ซึ่งโรคหัวใจต้องใช้การดูแลที่ซับซ้อน และโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ได้สวนหัวใจใส่บอลลูนให้กับผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 120 รายต่อเดือน เฉลี่ยต่อปี 1,400 ถึง-1,500 ราย เป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่ต้องการให้โรงพยาบาลในเครือ BDMS ดูแลสังคมและดูแลสุขภาพของผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง

“เราสามารถลดตัวเลขการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ป่วย ที่มีอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในพื้นที่ภาคใต้ได้ จาก 12% โดยเฉลี่ยลดลงเหลือ 5-6% จนได้รับรางวัล Healthcare Awards 2023 และรางวัล Leadership Awards 2023 โดยบริษัท เดอะ โกลบอล อีโคโนมิกส์ จำกัด ประเทศอังกฤษ ที่รวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากแวดวงการเงินและอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีรางวัล Healthy Organization4 มิติ จาก สสส.เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนศูนย์การแพทย์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้ MOU ส่งแพทย์เข้าไปอาจารย์ผู้ช่วยสอนทำให้ความรู้ในมหาวิทยาลัย พัฒนาทางด้านการศึกษา นอกจากนี้ยังสนับสนุนกลุ่ม High potential หรือกลุ่มคนที่ทำงานให้มีศักยภาพในการเติบโตเพิ่มขึ้น เช่น การผ่าตัดผู้ป่วย การดูแลรักษา รวมถึง นวัตกรรมการรักษาแบบใหม่ พร้อมคาดหวังให้องค์กรเป็นผู้นำเรื่องการดูแลสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ