6 กุมภาพันธ์ 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เดือนมกราคมที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 8,197 ราย มากกว่าปี 2566 ถึง 1.9 เท่า (4,286 ราย) และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5-14 ปี พบมากทางภาคใต้ และภาคกลาง รายงานผู้เสียชีวิตยืนยันแล้ว 13 ราย กระจายใน 11 จังหวัด และเสียชีวิตมากสุดในกลุ่มที่อายุมากกว่า 65 ปี
กรมควบคุมโรคจึงขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลทุกแห่งจ่ายยาทากันยุงให้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในแผนกผู้ป่วยนอกเพื่อป้องกันการกระจายเชื้อไข้เลือดออกในตัวผู้ป่วยสู่ชุมชน เพราะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหากถูกยุงลายกัดสามารถส่งต่อเชื้อไข้เลือดออกให้ผู้อื่นได้
การทายากันยุงในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะช่วยตัดวงจรดังกล่าว และลดการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้โดยให้ทาวันละ 1 ซองทุก 6 ชั่วโมง ติดต่อกัน 5 วัน นับจากวันที่ได้รับการวินิจฉัย
นอกจากนี้ต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค อย่างต่อเนื่องเพื่อลดจำนวนยุงลายรุ่นต่อไป
นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการทายากันยุงเพื่อป้องกันยุงกัดในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว ผู้ที่ไม่ป่วยแต่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน หรือละแวกบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยก็ต้องทายา กันยุงเช่นกันเพื่อป้องกันยุงกัด
หากมีอาการสงสัยโรคไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง กระหายน้ำ หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา เป็นต้น
ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด จะมีผลทำให้เลือดออกมากในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
หากรับประทานยาลดไข้หรือเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลด หรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งโรคไข้เลือดออกหากได้รับการรักษาเร็วจะสามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422