"อัปเดตโควิด19"หมอธีระชี้สายพันธุ์ JN.1 ครองการระบาดทั่วโลก-แพร่เชื้อไว

15 ม.ค. 2567 | 08:19 น.

"อัปเดตโควิด19"หมอธีระชี้สายพันธุ์ JN.1 ครองการระบาดทั่วโลก-แพร่เชื้อไว เผยมีตำแหน่งการกลายพันธุ์จำนวนมากกว่า 30 ตำแหน่ง แนะการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อหรือไม่ติดซ้ำดีที่สุด 

โควิด19 กำลังอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดอีกครั้ง หลังจากที่เพิ่งผ่านเทศกาลปีใหม่ ซึ่งประชาชนมีการพบปะสังสรรค์กันเป็นจำนวนมาก

ล่าสุดรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความระบุถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ว่า

อัปเดตโควิด-19 สุดสัปดาห์

JN.1

หมอธีระบอกว่า ชัดเจนว่า JN.1 (BA.2.86.1.1) นั้นเป็นสายพันธุ์ที่ครองการระบาดทั่วโลก โดยมีสัดส่วนการตรวจพบสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ในขณะที่สายพันธุ์ที่เคยครองการระบาดก่อนหน้านี้อย่าง EG.5.1 (XBB.1.9.2.5.1) นั้นลดลง และสายพันธุ์อื่นๆ ก็ตรวจพบในสัดส่วนที่น้อยมาก 

JN.1 จึงเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดระลอกล่าสุดอย่างแท้จริง 

ถือเป็นสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 ที่มีตำแหน่งการกลายพันธุ์จำนวนมากกว่า 30 ตำแหน่ง หรือเรียกว่า hypermutated strain ตัวที่สอง นับจากตัวแรกที่เราเจอคือ Omicron BA.1 ที่่กลายพันธุ์มากแตกต่างจากสายพันธุ์เดลต้า

"อัพเดทโควิด19"หมอธีระชี้สายพันธุ์ JN.1 ครองการระบาดทั่วโลก-แพร่เชื้อไว

ระลอกล่าสุดที่ทั่วโลกเผชิญอยู่นี้ หากติดตามจะเห็นกันได้ว่า ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยเกิดจากการที่ไวรัสดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์เดิมๆ ผนวกกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในสังคมที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และไม่ได้ป้องกันตัวอย่างเพียงพอ

ภาพรวมทั่วโลก ระลอกนี้จะมีระยะเวลาเฉลี่ยราว 10 สัปดาห์ จากขาขึ้นสู่ขาลง อย่างไรก็ตาม อาจแปรผันตามปัจจัยแวดล้อมทางสังคม อาทิ ความถี่ของกิจกรรมเสี่ยงที่เกิดขึ้น การป้องกันตัวของประชาชน รวมถึงระดับภูมิคุ้มกันของประชากร 

หากสังเกตสภาพแวดล้อมรอบตัวในปัจจุบัน ทุกคนคงพอจะประเมินสถานการณ์ระบาดกันได้ดีว่าเป็นเช่นไร

การติดเชื้อแต่ละครั้ง ตามมาด้วยความเสี่ยงทั้งเรื่องป่วย ป่วยรุนแรง ตาย และปัญหาเรื้อรังอย่าง Long COVID ในอนาคต

ดังนั้นจึงควรป้องกันตัวให้ดี ระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน

การฉีดวัคซีนเพื่อรักษาภาวะ Long COVID ได้ผลไหม?

งานวิจัยล่าสุดจากทีมของ Prof.Akiko Iwasaki มหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ใน medRxiv เมื่อ 12 มกราคม 2024

ศึกษาผลของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 และเกิดปัญหา Long COVID โดยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนที่จะเกิดการติดเชื้อ 

พบว่า หลังได้รับวัคซีนไป ผู้ป่วย Long COVID มีภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ (T-cells) และระดับแอนติบอดี้สูงขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้อาการผิดปกติต่างๆ เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังพบว่าไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (autoantibodies) ระดับแอนติบอดี้ต่อไวรัส EBV, HSV, VZV รวมถึงสารบ่งบอกถึงการอักเสบในร่างกายชนิดต่างๆ 

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วย Long COVID ที่อาการป่วยไม่ดีขึ้นนั้นมักจะเป็นกลุ่มที่มี Interferon และ neuropeptides ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้มีกลุ่มตัวอย่างน้อย และไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบ ด้วยข้อจำกัดของลักษณะประชากรเฉพาะที่ต้องการศึกษา ผลของการฉีดวัคซีนต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพในกลุ่มผู้ป่วย Long COVID นั้นคงต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

ปัญหา Long COVID นั้นเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และมีแนวโน้มมากขึ้นเมื่อมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยยังไม่มีวิธีรักษามาตรฐานที่มีประสิทธิภาพ 

ดังนั้น การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อหรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด