ระวัง "Burnout Syndrome" อาการ เบื่องาน หมดไฟ คุกคาม คนGen Y

23 พ.ย. 2566 | 06:43 น.
954

"Burnout Syndrome" ภาวะคุกคามคนทำงาน Gen Y ภาวะเบื่องาน หมดไฟ รู้สึกไร้ค่าทั้งในงานที่ทำ และในตนเอง ทำความรู้จักสาเหตุ สำรวจอาการ หาทางแก้ ก่อนที่จะสาย

คน Gen Y หรือ Millenials คือกลุ่มคนในช่วงอายุระหว่าง 24 - 40 ปี คนกลุ่มนี้ในปัจจุบันมักกลายเป็นผู้มีส่วนสำคัญในองค์กร เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เริ่มเป็นหัวหน้างาน และมักมีลูกน้องเป็นคน Gen Z อายุไม่เกิน 23 ปี ที่มีมุมมอง และทัศนะคติที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนๆ เช่น การสนใจในคุณภาพงาน มากกว่าสถานที่ และเวลาทำงาน (Remote working) หรือ เชื่อว่าสามารถออกแบบชีวิตการทำงานด้วยตัวเองได้ รักอิสระ ไม่ชอบการผูกมัด มองว่าการทำงานไม่จำเป็นต้องมีเวลา สถานที่ หรือตารางที่เข้มงวดอีกต่อไป(Generation Flex)

แต่ในขณะเดียวกัน คน Gen Y หรือ Millenials ก็ยังต้องสื่อสาร และตอบสนองต่อนโยบายของผู้บริหาร Gen X คือกลุ่มคนในช่วงอายุระหว่าง 40 - 53 ปี ไปจนถึง ผู้บริหารรุ่น Baby Boomer คือกลุ่มคนในช่วงอายุระหว่าง 54 - 72 ปี ซึ่งมีมุมมอง และทัศนะคติที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากคน Gen Z 


ผลการศึกษาของ Rainmakers CSI ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ ข้อมูลเชิงลึก และการวางแผนระดับนานาชาติ จากตัวอย่างพนักงานประจำอายุ 21 ปีขึ้นไป จำนวน 2,652 คน ทำการสำรวจระหว่างมิถุนายน - กรกฎาคม 2021 พบว่าคน Gen Y มีสัดส่วนของคนที่ burnout มากที่สุดถึง 42% ซึ่งคิดเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่ม Baby Boomers ที่ 21%

วัยทำงาน

"Burnout Syndrome" ภาวะหมดไฟ ของคนทำงาน

"Burnout Syndrome" หรือ ภาวะหมดไฟ เป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียด รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ มองงานที่กำลังทำอยู่ในเชิงลบ ขาดความสุข สนุกในเนื้องาน หมดแรงจูงใจประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง จนอาจรู้สึกเหินห่างจากเพื่อนร่วมงาน หมดเรี่ยวแรงในการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน

อาการเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มอาการ ยังไม่รุนแรงเท่ากับโรคซึมเศร้า แต่หากปล่อยไว้และอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ สภาพอารมณ์ลักษณะเช่นเดิม อาจส่งผลต่อการทำงาน เช่น ขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง คิดเรื่องลาออก หรือหากปล่อยให้มีอาการต่อเนื่องในระยะยาว อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

สาเหตุ "BURNOUT SYNDROME"

  • ภาระงานหนัก และปริมาณงานมาก 
  • งานมีความซับซ้อน ต้องทำในเวลาเร่งรีบ 
  • มีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน ขาดอำนาจในการตัดสินใจ 
  • ทำงานที่ไม่ถนัด ต้องแก้ปัญหาด้วยตัวคนเดียวโดยขาดที่ปรึกษา 
  • รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม
  • ไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ทุ่มเทไป 
  • มีปริมาณงานไม่สอดคล้องกับจำนวนบุคลากร 
  • ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง

 

แบ่งระยะ ก่อน "Burnout"  (Miller & Smith, 1993) 

1. ระยะฮันนีมูน (the honeymoon) เป็นช่วงเริ่มงาน คนทำงานมีความตั้งใจ เสียสละเพื่องานเต็มที่ พยายามปรับตัวกับเพื่อนร่วมงาน และองค์กร

2. ระยะรู้สึกตัว (the awakening) เมื่อเวลาผ่านไป คนทำงานเริ่มรู้สึกว่าความคาดหวังของตนอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองกับความต้องการของตนทั้งในแง่การตอบแทน และการเป็นที่ยอมรับ คนทำงานอาจรู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาด และไม่สามารถจัดการได้ ทำให้เกิดความขับข้องใจ และเหนื่อยล้า
 
3. ระยะไฟตก (brownout) คนที่งานรู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง และหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเจน อาจมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหนีความขับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานเริ่มลดลง อาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน มีการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรของตนเอง

4. ระยะหมดไฟเต็มที่ (full scale of burnout) หากช่วงไฟตกไม่ได้รับการแก้ไข คนทำงานจะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตนเองไป มีอาการของภาวะหมดไฟเต็มที่

5. ระยะฟื้นตัว (the phoenix phenomenon) หากคนทำงานได้มีโอกาสผ่อนคลาย และพักผ่อนอย่างเต็มที่ จะสามารถกลับมาปรับตนเองและความคาดหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงสามารถปรับแรงบันดาลใจ และเป้าหมายในการทำงานด้วย

วิธีรักษา และป้องกัน "Burnout Syndrome" 

1. ขอความช่วยเหลือ การพูดคุยระบายความเครียด การปรึกษาหารือคนที่อาจช่วยได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง หรือครอบครัว

2. พบปะสังสรรค์ มีกิจกรรมนอกงานกับเพื่อนร่วมงานบ้าง ทั้งช่วงพัก พักทานอาหารกลางวันและช่วงนอกเวลางาน ในขณะเดียวกันให้ลดการพบปะสังสรรค์พูดคุย กับคนที่ทำให้รู้สึกแย่หรือเป็นลบ

3. การเข้าร่วมกลุ่มที่อาจจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น ชีวิตมีความหมายมากขึ้น เช่น กลุ่มศาสนา กลุ่มทางสังคม จิตอาสาต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ได้เพื่อนใหม่ ไปพร้อมๆกับเกิดความปลื้มใจ และช่วยลดความเครียด 

4. การปรับเปลี่ยนมุมมองต่องานที่ทำ มองหาคุณค่าในงานที่ทำ พยายามทำให้งานและชีวิตอื่น ๆ มีความสมดุล

5. การผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงาน จะช่วยลดความเครียดในการทำงาน และได้ความช่วยเหลือ มีโอกาสทำงานได้ผลดีขึ้น และผ่านเวลาที่ยากลำบากในการทำงานได้ง่ายขึ้น

6. หยุดพัก ลาพักร้อน พาตัวออกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้ดีขึ้น

ที่มา : ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรงพยาบาลเปาโล ,Metlife