ผู้ป่วย “จิตเวช” ทั่วโลกพุ่ง “โรคซึมเศร้า” ครองแชมป์

18 พ.ย. 2566 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2566 | 09:20 น.
604

ผู้ป่วยจิตเวชพุ่งทั่วโลกทะลุ 7 แสนคน เฉลี่ยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คนในทุก 40 วินาที ด้านคนไทยฆ่าตัวตาย 4,800 คนต่อปี เป็นกลุ่มอายุ 15-34 ปี จับตาตัวเลขกลุ่มสูงวัยเติบโตมากสุด

สถิติการฆ่าตัวตายทั่วโลกพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในทุกๆ ปีทั่วโลกมีคนมากกว่า 7 แสนคนฆ่าตัวตายสำเร็จ โดยเฉลี่ยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คนในทุก 40 วินาที สำหรับประเทศไทยตัวเลขล่าสุด ในปี 2565 มีคนคิดฆ่าตัวตายปีละกว่า 5 หมื่นคน และมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,800 คนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหามาจากโรคซึมเศร้า และยังพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุคิดฆ่าตัวตายมากขึ้น

อันเป็นเพราะปัญหาของฮอร์โมนไม่สมดุล จึงเกิดภาวะซึมเศร้า ในขณะที่กลุ่มอายุที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 15 - 34 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น แนวโน้มดังกล่าว ทำให้โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาให้ความสำคัญ ทั้งการจัดตั้งศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวช แผนกจิตเวชเพื่อให้คำปรึกษา รวมถึงโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชที่เพิ่มขึ้น ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ผู้ป่วย “จิตเวช” ทั่วโลกพุ่ง “โรคซึมเศร้า”  ครองแชมป์

นพ.โอม สุดชุมแพ ผู้อำนวยการพานาซีเวลล์เนส เขาใหญ่ และแพทย์ชำนาญการด้าน functional medicine and integrative mental health โรงพยาบาลพานาซี พระราม 2 กล่าวว่า สมอง ร่างกาย จิตใจ สัมพันธ์กันหมด การกินอาหารที่มีประโยชน์ย่อมช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ถ้าเราขาดสารอาหารเหล่านี้ ก็จะทำให้สารสื่อประสาทของสมองผิดพลาดได้ ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีระดับเซโรโทนินที่ต่ำกว่าปกติ จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีความสามารถในการเพิ่มระดับเซโรโทนิน หรืออาหารจำพวกโปรตีน สามารถสร้างสารสื่อประสาท

“เราเชื่อว่า การรักษาโรคซึมเศร้า ไม่ใช่เพียงแค่จะทานยาเคมี เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือ การตรวจหา ต้นตอที่อาจจะเป็นสาเหตุของภาวะเครียด เช่น การนอนไม่หลับติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจจะเป็นสาเหตุของภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน”

กระบวนการรักษาโรคซึมเศร้าแนวใหม่ของ ศูนย์จิตต์สราญ โรงพยาบาล พานาซี พระราม 2 หลังจากการตรวจหาสารอาหาร หรือ ฮอร์โมนขั้นต้นแล้ว เรามีการตรวจยูรีน เพื่อหาความผิดปกติต่างๆ ของสารในร่างกาย จากนั้นขั้นตอนของการรักษาที่ศูนย์จิตต์สราญ เราสร้างความเข็มแข็งของสุขภาวะกาย และใจ ด้วยการ ใช้ IV treatment เพื่อให้ปรับสมดุล การเติมสารอาหารบางอย่างที่ร่างกายต้องการ ตลอดจนการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด ทั้งการทา หรือการรับประทาน

ผู้ป่วย “จิตเวช” ทั่วโลกพุ่ง “โรคซึมเศร้า”  ครองแชมป์

อีกทั้งการรักษาร่วมอีกหนึ่งศาสตร์ที่เราได้นำมาใช้ คือ scientific therapeutic essential oil เพื่อการบำบัดด้วยกลิ่น น้ำมันหอมระเหยมีผลต่อจิตใจ การที่เราได้กลิ่นหรือสูดดมกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยเข้าไปนั้น กลิ่นจะเดินทางไปยังสมองส่วนลิมบิกโดยตรง ซึ่งสมองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึกและฮอร์โมน ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติที่เกิดขึ้นกับจิตใจนั่นเอง

นอกจากที่ศูนย์จิตต์สราญ รพ.พานาซี พระราม 2 จะเป็น ศูนย์บำบัดจิตใจแล้ว พานาซี เขาใหญ่ ก็ถือเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ได้นำศาสตร์แห่งการสร้างสมดุลกายใจ เพื่อการบำบัดภาวะเครียด และการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยเช่นกัน “ที่เขาใหญ่ เราเน้น ศาสตร์ที่เรียกว่า Therapeutic landscape and psychiatric care facilities หรือการนำทัศนียภาพ วิวทิวทัศน์ที่สวยงามมาใช้ในการบำบัดจิตใจ ยิ่งถ้าได้เห็นภูเขา อยู่ท่ามกลางแมกไม้สีเขียวแล้ว คนไข้ย่อมผ่อนคลายได้ง่ายขึ้น

ด้านพญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช Bangkok Mental Health Hospital หรือ BMHH กล่าวว่า ตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล BMHH ซึ่งได้เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน (ระยะเวลากว่า 3 เดือน) มีผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาจำนวนกว่า 1,000 ราย โดยพบว่าโรคทางจิตเวชที่เข้ารับการรักษามากที่สุด ได้แก่ 1. โรคซึมเศร้า 2. โรควิตกกังวล 3. ผู้ที่มีความเครียดสูงและต้องการคำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว ปัญหาคู่ครอง ปัญหาเรื่องการทำงาน 4. โรคแพนิค และ 5. โรคไบโพลาร์

นอกจากนี้พบอีกว่าช่วงอายุของผู้เข้ารับการรักษา จะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 25-40 ปี ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เริ่มวางแผนชีวิตจริงจัง มีความคาดหวังในการทำงาน แต่งงาน มีลูก มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตค่อนข้างมาก รวมถึงสิ่งแวดล้อมปัจจุบันที่มีความเครียด ความกดดัน มีการแข่งขัน และมีความคาดหวังสูง

พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์

“หลังจากที่ BMHH เปิดให้บริการกว่า 3 เดือน พบว่าตั้งแต่เดือนส.ค.-พ.ย. ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้ารับการรักษากว่า 1,000 ราย โดยผู้ที่เข้ามารักษากว่า 70% เป็นโรคซึมเศร้า รองลงมาเป็นโรควิตกกังวล และโรคเครียด โดยมีช่วงอายุเฉลี่ย 25-40 ปี จากตัวเลขสถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ด้านสุขภาพจิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งสอดรับกับเทรนด์ทั่วโลกที่เหมือนกันทั้งหมด คนไข้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะ หากมีปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ เช่น ด้านสังคม เศรษฐกิจ ครอบครัว รวมถึงโรคระบาด ล้วนส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพจิต”

ขณะเดียวกันในปัจจุบันจะพบลักษณะของผู้รับบริการที่มีปัญหาสุขภาพจิตหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะ ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคจิตเภท ซึ่งมีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน, โรคทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล แพนิค, ภาวะการปรับตัวผิดปกติ หรือกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ ยังพบว่าผู้ที่มารับบริการในปัจจุบันเพิ่มเติม คือ

กลุ่มที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรค แต่ต้องการคำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา ได้แก่ ผู้ที่มีความเครียด มีความไม่สบายใจ แก้ปัญหาด้วยตนเองไม่ได้ เช่น มีปัญหาการปรับตัวในการเรียน การทำงาน ปัญหาด้านความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก หรือความสัมพันธ์ระหว่างคู่ครอง ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีมากๆ ที่คนส่วนใหญ่มองเห็นว่าการพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นเรื่องปกติ

สำหรับอาการป่วยของผู้ป่วยด้านจิตเวชเกิดจากหลายสาเหตุ เช่นโรคซึมเศร้า พบว่าเกิดจากสารเคมีในสมองที่มีความไม่สมดุล ทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่เศร้าผิดปกติ การรักษาด้วยยาเพื่อช่วยปรับสารเคมีในสมองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมียาชนิดใหม่ๆ มากขึ้น ร่วมกับการรักษาด้วยการทำจิตบำบัด หรือ พฤติกรรมบำบัด ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย แนวทางการรักษาของ BMHH มีการวางแผนเฉพาะบุคคลร่วมกันของทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ จิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก พยาบาลเฉพาะทางและเภสัชกร

“โรคทางจิตเวชเป็นโรคที่รักษาได้ เป็นโรคของความรู้สึก พฤติกรรม ความคิด แตกต่างจากโรคทางกายทั่วไป ต้องสังเกตให้ลึกซึ้ง มองหาต้นเหตุของการป่วยมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น สิ่งแวดล้อมที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่เป็นอย่างไร มีพฤติกรรมบางอย่างที่ผู้ป่วยทำเป็นประจำและส่งผลไม่ดีต่อตัวเองหรือไม่ การวินิจฉัยโรคและการรักษาต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง นอกจากการรับประทานยาแล้วอาจจะต้องปรับความคิด ปรับพฤติกรรมบางอย่าง ไม่ใช่แค่มาหาจิตแพทย์ ได้ยาไปรับประทานแล้วจบ แต่ต้องดูแลชีวิตว่าเขาจะอยู่ต่ออย่างไร จะกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้หรือไม่ ญาติพี่น้องมีความเข้าใจ ช่วยเหลือผู้ป่วยได้แค่ไหน”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,940 วันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566