12 จังหวัดรับมือฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ส่อลากยาวถึงปลายเม.ย.67

22 พ.ย. 2566 | 13:35 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2566 | 13:35 น.

ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่ง "หมอชลน่าน" เผย สถานการณ์ฝุ่นเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนแล้วใน 12 จังหวัด คาดอาจยาวไปถึงปลายเมษายน 67 แนะ ตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ขณะที่โรงเรียนควรมีมาตรการแจ้งเตือนและจัดทำห้องปลอดฝุ่น

จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ค่าฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น ล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ข้อมูลการติดตามคุณภาพอากาศเพื่อบริหารจัดการฝุ่น PM 2.5 โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉิน เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (22 พฤศจิกายน)

พบพื้นที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินมาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) หรือระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

  • นนทบุรี 
  • กทม. 
  • นครปฐม 
  • สมุทรปราการ 
  • สุโขทัย
  • พิษณุโลก
  • อ่างทอง
  • สุรินทร์ 

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นยังไม่มีรายงานพื้นที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงในระดับสีแดงหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ (เกิน 75 มคก./ลบ.ม.) ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั้วโมง ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จาก 50 มคก./ลบ.ม. เป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพได้รวดเร็วขึ้น

ผลกระทบทางสุขภาพของฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน

ระยะสั้น : แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก มีน้ำมูก แสบจมูก แสบคอ ไอแห้งๆ คันตามร่างกาย รวมถึงอาจมีอาการในระดับรุนแรงถึงขั้นแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย

ระยะยาว : จะส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจ หยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจวาย, ระบบทางเดินหายใจ, มะเร็งปอด รวมถึงในหญิงตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดและกระทบต่อพัฒนาการของระบบสมองทารก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอด จะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสเร็วกว่าประชาชนทั่วไป และ และอาจมีอาการของโรคกำเริบได้” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่าน ระบุว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 จะมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เอลนีโญที่มีกำลังแรงตั้งแต่ปลายฤดูฝนปี 2566 ถึงฤดูร้อนปี 2567 ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติ อากาศร้อนและแล้งมากขึ้น

ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าค่าปกติ ร้อยละ 10 ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าในปี 2567 มีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในประเทศและหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งจะเริ่มพบสถานการณ์ตั้งแต่ปลายปี 2566 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่

จากนั้นช่วงมกราคม-ปลายเมษายน 2567 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจะมีแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเผา ไฟไหม้ป่า และหมอกควันข้ามแดนซึ่งเมื่อต้นปี 2566 พบค่า PM 2.5 สูงสุดถึง 537 มคก./ลบ.ม. ที่ จ.เชียงราย สูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 14 เท่า

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้ที่ Air4Thai หรือ App Life Dee และปฏิบัติตนตามระดับสีค่าฝุ่นสูง ดังนี้

สีเหลือง ระดับปานกลาง (25.1 – 37.5 มคก./ลบ.ม.) เลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก สังเกตอาการตนเอง สีส้ม (37.6 – 75 มคก./ลบ.ม.) และสีแดง (75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) ประชาชนทั่วไปลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน กลุ่มเสี่ยง ลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และหากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ ส่วนผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม

นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดบ้านเรือนเป็นประจำ สถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง เช่น สถานศึกษา สถานดูแลผู้สูงอายุ ควรมีมาตรการในการดูแลสุขภาพ เช่น แจ้งเตือน ลดหรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง เฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ จัดทำห้องปลอดฝุ่นในเป็นที่พักในช่วงค่าฝุ่นสูง ที่สำคัญ สถานศึกษาควรให้ความรู้ แก่นักเรียน เพื่อให้สามารถป้องกันตนเองและบอกต่อในครอบครัวและชุมชนได้

 

12 จังหวัดรับมือฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ส่อลากยาวถึงปลายเม.ย.67