พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทส.และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เตรียมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 กรุงเทพมหานคร ปี 2567 เบื้องต้นรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ที่มีตนเอง (พลตำรวจเอก พัชรวาท ฯ) เป็นประธาน เพื่อเป็นกลไกเร่งรัดการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่น PM2.5
“ขณะนี้กรุงเทพมหานคร ใกล้จะเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ฝุ่น และปีหน้าปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลให้แล้งมากขึ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เตรียมมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น ทั้งการควบคุมไฟในป่า การเผาในพื้นที่เกษตร และการควบคุมการเกิดฝุ่นในพื้นที่เมืองอย่างกรุงเทพมหานครไว้แล้ว สิ่งที่สำคัญคือ ต้องนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเร่งด่วนอย่างทันที”
พลตำรวจเอกพัชรวาท กล่าวต่อว่า ส่วนการควบคุมแหล่งกำเนิดของฝุ่นมาจากยานพาหนะ กระทรวงคมนาคม ตำรวจจราจร กระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร เข้มงวดการตรวจสอบ/ตรวจจับรถควันดำโดยเฉพาะการเข้ามาในเขตเมืองชั้นใน การตรวจสภาพรถยนต์ กวดขันวินัยจราจร พื้นที่ก่อสร้าง ต้องสนับสนุนประชาชนในการบำรุงรักษารถ การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าและรถสาธารณะ การนำน้ำมันยูโร 5 มาใช้อย่างเต็มพื้นที่ และกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องควบคุมโรงงานทุกแห่งที่มีความเสี่ยงสูงในการปล่อยฝุ่น
สำหรับพื้นที่รอบนอก ขอให้กรุงเทพมหานครสนับสนุนเกษตรกรช่วยกันไม่เผาตอซังฟางข้าว สุดท้ายต้องมีการสื่อสารเชิงรุก ตรงจุด ต่อเนื่อง บ่อยครั้ง ทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังสถานการณ์ การแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นต้องทั่วถึง เท่าเทียม ทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง
พลตำรวจเอก พัชรวาท กล่าวต่อว่า ในปีนี้ภาครัฐได้เตรียมการอย่างรวดเร็วก่อนสถานการณ์ฝุ่น และพร้อมดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่พวกเราต้องรวมพลังกันทุกภาคส่วน รวมถึงพี่น้องประชาชน เพื่อให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นที่คาดว่าจะรุนแรงได้
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า แหล่งกำเนิดหลักในกรุงเทพมหานครมาจากรถยนต์ดีเซลเกือบ 57% ซึ่งรถบรรทุกและรถปิคอัพ ประกอบกับปีนี้ได้มีการปรับปรุงมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศที่มีความเข้มขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยซึ่งจะทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
“ในปีนี้ได้ยกระดับมาตรการขึ้นให้มีความเข้มข้นมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยจัดทำเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมการรับมือฝุ่นละออง ทั้งในเรื่องการส่งเสริมน้ำมันกำมะถันต่ำ ทำให้ฝุ่นลดลง การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อยกลับการเผาในพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า เร่งนำระบบ GAP PM2.5 Free มาใช้ และส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดการเผา”
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้มีการเตรียมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยได้จัดทำแผนลดฝุ่น 365 วัน ตั้งแต่ในเรื่องติดตามเฝ้าระวัง มีการทำ Riskmap เพื่อลงในแผนที่ที่จะสามารถจะเข้าถึงพื้นที่ได้ทันที มีการปรับปรุงแอพพลิเคชั่น AirBKK เพื่อให้ประชาชนวางแผนการเดินทางและการป้องกันตน การเผาในที่โล่ง ใช้ประชาชนเป็นแนวร่วม
ทั้งนี้ได้แบ่งเงินรางวัลนำจับให้กับผู้แจ้งเหตุ กำจัดต้นตอ โดยตรวจควันดำ ณ แหล่งกำเนิด อู่รถเมล์ พื้นที่ก่อสร้าง ป้องกันประชาชน โดยทำห้องปลอดฝุ่น มีการติดตั้งเครื่องฟอก การออกมาตรการ WFH ซึ่งร่วมกับกรมควบคุมมลพิษในการพยากรณ์ ซึ่งขณะนี้มีเอกชนเข้าร่วม รวมพนักงาน กว่า 40,000 คน ที่สามารถให้ความร่วมมือได้ทันที นอกจากนี้ ให้ทุกโรงเรียนใน กทม. ชักธงใน 437 แห่ง เพื่อให้เด็กรู้ และจะได้นำไปบอกครอบครัว เพื่อให้ผู้ปกครอง และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กล่าวว่า พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำ นโยบาย 4 ข้อ คือ แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ