กรมวิทย์ จ่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศบริการคัดกรอง 3 โรคร้าย

18 ต.ค. 2566 | 14:30 น.

กรมวิทย์ จ่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศให้บริการตรวจคัดกรอง 3 โรคร้าย "ดาวน์ซินโดรม-มะเร็งปากมดลูก-วัณโรค" ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศ หวังให้ประชาชนเข้าถึงบริการครอบคลุมทุกภูมิภาค

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลุยงานภูมิภาค ตอบสนองนโยบายส่งเสริมการมีบุตร มะเร็งครบวงจร และ TB zero ในปี 2573 เตรียมพัฒนาศักยภาพของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่ง ให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศ สามารถให้บริการครอบคลุมชุดสิทธิประโยชน์ ทั้งการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม การตรวจมะเร็งปากมดลูก การตรวจวัณโรค เพื่อให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ครอบคลุมทั่วประเทศ 

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้บริหารหน่วยงานส่วนกลางและผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวินิจฉัยสุขภาพแม่และเด็ก (Excellent diagnosis center for maternal and child health) ของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ 

นพ.ยงยศ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ มีผลงานที่โดดเด่น คือ การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่มีขนาดการให้บริการใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปัจจุบันมีการพัฒนาการตรวจคัดกรอง ด้วยวิธี Non-Invasive Prenatal Testing (NIPT) ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองความเสี่ยงของความผิดปกติทางโครโมโซมของทารกในครรภ์จากเลือดแม่ที่มีความแม่นยำสูง 99% และมีความไวและความแม่นยำกว่าวิธี Quadruple Test (QT) ที่ใช้อยู่เดิม

กรมวิทย์ จ่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศบริการคัดกรอง 3 โรคร้าย

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม ด้วยวิธี NIPT ให้เข้าสู่สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป ซึ่งมีความปลอดภัยกับทารกในครรภ์มากกว่าการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อให้เด็กเกิดใหม่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต อีกทั้งช่วยลดภาระงานของแพทย์ในการเจาะน้ำคร่ำอีกด้วย

นอกจากนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ยังมีผลงานเด่นในเรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA test สามารถตรวจระบุทั้ง 14 สายพันธุ์ เสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานในปี 2564 ได้รับตัวอย่างเพื่อตรวจคัดกรอง จำนวน 28,870 ราย จากจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ตรวจพบสายพันธุ์เสี่ยงสูง จำนวน 2,220 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.69 ในปี 2565 ได้รับตัวอย่าง 13,309 ราย ตรวจพบสายพันธ์เสี่ยงสูง จำนวน 1,133 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.51 และในปี 2566 มีการพัฒนารูปแบบการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

กรมวิทย์ จ่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศบริการคัดกรอง 3 โรคร้าย

โดยใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง (HPV Self-Sampling)  นำร่องในพื้นที่จังหวัดชัยนาทผ่านเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกระดับ พัฒนาศักยภาพ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ลงพื้นที่ให้ความรู้หญิงกลุ่มเป้าหมายในการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เป็นพี่เลี้ยงและแกนนำของหน่วยบริการเก็บตัวอย่าง บันทึกข้อมูล ส่งตัวอย่าง เกิดเป็นต้นแบบ ลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการระดับจังหวัด ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ทำให้จังหวัดชัยนาทมีอัตราการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีไทยอายุ 30-60 ปี เป็นอันดับ 1 ของประเทศ

กรมวิทย์ จ่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศบริการคัดกรอง 3 โรคร้าย

จากตัวอย่างที่ได้รับ 19,961 ตัวอย่าง ตรวจพบเซลล์มากถึง 19,586 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 98.8 ผลตรวจพบสายพันธุ์เสี่ยงสูง จำนวน 1,785 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.11 สายพันธุ์ที่พบเสี่ยงสูง 5 อันดับแรก คือ HPV 16, 52, 58, 66 และ 68 สอดคล้องการเก็บตัวอย่างด้วยบุคลากรทางการแพทย์ ในปี 2564-2565

ทั้งนี้ บางสายพันธุ์วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกยังไม่ครอบคลุม ความสำเร็จการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุกด้วยชุดเก็บตัวอย่างตนเองที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้หญิงไทยในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ทั่วถึง ช่วยให้ตรวจพบร่องรอยโรคได้ไว และนำสู่การรักษาได้รวดเร็วขึ้น

กรมวิทย์ จ่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศบริการคัดกรอง 3 โรคร้าย

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่ได้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงเตรียมพัฒนาศักยภาพของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาค ครอบคลุมทั้ง 12 เขตสุขภาพ จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ ในประเด็นมุ่งเน้น 3 ด้าน ภายใน 100 วัน เพื่อให้สามารถบริการตรวจวิเคราะห์ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ สนับสนุนความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย คือ

  • การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • การตรวจวัณโรค (Tuberculosis : TB) ก้าวสู่ TB zero ในปี 2573