กรมวิทย์ เดินแผน Quick Win เพิ่มศักยภาพตรวจคัดกรองรักษาโรคมะเร็ง

17 ต.ค. 2566 | 11:55 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2566 | 11:57 น.

รองปลัดสธ. มอบนโยบายและการดำเนินงานขับเคลื่อนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลุยแผน Quick Win 100 วันแรก มุ่งเพิ่มศักยภาพตรวจคัดกรอง วินิจฉัยรักษาโรคมะเร็ง-วัณโรค เน้นการดูแลสุขภาพประชาชนทุกช่วงวัย

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานให้กับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ในส่วนกลาง และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนภูมิภาคทั้ง 15 แห่ง ว่า 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ มีการศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

มีการพัฒนาระบบคุณภาพตามมาตรฐานสากลของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการรังสีวินิจฉัยในประเทศไทย การตรวจวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อแจ้งเตือนภัยและคุ้มครองสุขภาพของประชาชน 

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสนับสนุนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 Quick Win 100 วัน เพื่อผู้บริโภคปลอดภัย เครือข่ายสุขภาพแข็งแรง คนไทยสุขภาพดี อาทิ 

-การเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการในการตรวจคัดกรอง เพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง โดยการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 สาเหตุมะเร็งเต้านมในผู้หญิง 10,000 รายต่อปี 

-การตรวจมะเร็งปากมดลูก HPV DNA 14 สายพันธุ์ รองรับการฉีดวัคซีนและการรักษาระยะยาว

-พัฒนาห้องปฏิบัติการศูนย์ความเป็นเลิศด้านสุขภาพแม่และเด็ก (Laboratory Excellent Center for Mother & Child Health) เพื่อตรวจคัดกรองสุขภาพแม่และเด็ก การดูแลตลอดทุกช่วงวัย

-เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจและคัดกรองวัณโรค ด้วยวิธีทางชีวโมเลกุล (Molecular) ในประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยผลักดันการใช้ชีวโมเลกุลในการตรวจวินิจฉัยให้ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ 

-การตรวจวัณโรคดื้อยา การติดตามการระบาดตามชายแดนและพื้นที่เฉพาะ จัดทำ National Essential Diagnostic List (NEDL) สำหรับสถานพยาบาลในแต่ละระดับเพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของประเทศ 

-สร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการสู่ชุมชน และความรอบรู้ด้านสุขภาพ บูรณาการข้อมูลสุขภาพ iLab Plus แอปพลิเคชั่นผูกพัน Human genomic Thailand และเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) 

-พัฒนาห้องปฏิบัติการรองรับข้อกำหนดตามกฎหมายในการขึ้นทะเบียนและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม 

-เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้มีคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้ 

-พัฒนาห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากลด้าน OECD GLP 

-ส่งเสริม Soft power ในการท่องเที่ยว ทั้ง OTOP/SMEs โดยยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร เครื่องสำอาง ให้ได้มาตรฐานสากล 

-สร้างรายได้ให้กับชุมชนและพัฒนามาตรฐานอาหารริมบาทวิถี หรือสตรีทฟู้ด (Street food) 

-สร้างขวัญกำลังใจรวมทั้งส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่เติบโตในสายงาน

สำหรับการขับเคลื่อนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พ.ศ. 2567 ได้มอบแนวทางการดำเนินงานใน 10 ประเด็นมุ่งเน้น ได้แก่ 

1) พัฒนาศักยภาพของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่งให้เป็น Excellent center สามารถให้บริการได้ครอบคลุมชุดสิทธิประโยชน์ 

2) การจัดการโรคที่เป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุข โดยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น วัณโรค และมะเร็ง 

3) พัฒนาการตรวจคัดกรองแม่และทารกให้ครอบคลุม โรคหายาก (IEM) ตรวจกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ และโรคธาลัสซีเมีย 

4) พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการให้รองรับรายการทดสอบที่ประกาศตามกฎหมายของประเทศ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 

5) ผลักดันและสร้างเศรษฐกิจจากผลิตภัณฑ์สุขภาพ สมุนไพร ยา เครื่องสำอาง อาหาร 

6) สร้างความมั่นใจในการตรวจหาโรคที่เป็นปัญหาในแหล่งท่องเที่ยว เชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) และเชื้อลีจิโอเนลลา (Legionella spp.) และอาหารปลอดภัย

7) ผลักดัน พ.ร.บ.ห้องปฏิบัติการและจัดทำ National Essential Laboratory List เพื่อเป็นมาตรฐานของโรงพยาบาลในระดับ Primary/Second และ Tertiary 

8) สนับสนุนการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) หรือการแพทย์แม่นยำ (stems cell, cell therapy, immunotherapy, gene therapy) และพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจรับรองมาตรฐาน ATMP ของประเทศไทย 

9) จัดตั้งธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank) พร้อมระบบบริหารจัดการ 

10) สร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมฯร่วมกันทำงานอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนางานวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการสนับสนุนการวินิจฉัย รักษาโรค คุ้มครองประชาชนด้านสุขภาพ และกรมฯ คงไว้ซึ่งระบบมาตรฐานทั้งในระดับชาติ และสากล พัฒนานวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีการถ่ายทอดหรือต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน