กินเจ 2566 อย.แนะวิธีเลือกผัก-ผลไม้อย่างปลอดภัย 

16 ต.ค. 2566 | 11:55 น.

เทศกาลกินเจ 2566 อย. ส่งเสริมสร้างบุญบารมี งดเนื้อสัตว์ แนะเลือกผัก ผลไม้อย่างปลอดภัย พร้อมวิธีเลือกซื้ออาหารเจ ย้ำดูข้อมูลบนฉลาก วันเดือนและปีที่ควรบริโภคก่อน หรือวันหมดอายุ

เทศกาลกินเจ 2566 ที่ปีนี้เริ่มกันไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมาต่อเนื่องยาวไปจนถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2566 โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริโภคอาหารเจและผักผลไม้อย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลกินเจโดยมีคำแนะนำสำหรับผู้บริโภค ดังนี้  

อาหารเจสำเร็จรูป

ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดง ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของสถานที่ผลิต หรือชื่อและที่ตั้งผู้นําเข้าและประเทศผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ ส่วนประกอบที่สําคัญ วันเดือนและปีที่ผลิต และวันเดือนและปีที่ควรบริโภคก่อน หรือหมดอายุ เป็นต้น 

การเลือกซื้อผัก

ต้องเลือกผักที่สดใหม่ สะอาด ไม่แข็งหรือกรอบจนเกินไป ไม่มีกลิ่นฉุนแสบจมูก เชื้อรา หรือสีผิดจากธรรมชาติ ไม่มีเศษดินหรือสิ่งสกปรกเกาะหรือคราบสีขาวของสารฆ่าแมลงตกค้างอยู่ และควรเลือกผักที่ใบมีรูจากการเจาะของแมลง

การเลือกซื้อผลไม้

ต้องดูที่ผิวสด ใหม่ ขั้วหรือก้านยังเขียวและแข็ง เปลือกไม่ช้ำหรือดำ 

คำแนะนำในการล้างผัก ผลไม้ให้สะอาด

ใช้ผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือใช้น้ำส้มสายชูหรือเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือเด็ดผักเป็นใบ ล้างด้วยน้ำไหลผ่าน ใช้มือถูเบา ๆ เพื่อลดสารพิษตกค้างจากยาฆ่าแมลง ก่อนนำไปรับประทานหรือปรุงอาหาร

ทั้งนี้ อย. ได้มีมาตรการเฝ้าระวังสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเจ ณ สถานที่จำหน่าย เช่น ตลาด หรือห้างสรรพสินค้า เพื่อตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอจำเพาะของเนื้อสัตว์อย่างต่อเนื่อง โดยได้ตรวจวิเคราะห์อาหารเจ จำนวน 94 ตัวอย่าง พบยีนจำเพาะของไก่ 1 ตัวอย่าง

นอกจากนี้ ยังเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักและผลไม้สด โดยผลการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักและผลไม้สด จำนวน 2,022 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง  100  ตัวอย่าง 

บทลงโทษผู้กระทำผิด

ผู้กระทำผิดกรณีตรวจพบ DNA จากสัตว์ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 - 100,000 บาท กรณีตรวจพบสารพิษตกค้างเกินปริมาณที่กำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายสามารถร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร.1556 หรือ E-mail: [email protected] หรือ ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ