เปิดสาเหตุ "โรคฝีดาษลิง" หากระบาดแล้วยากจะควบคุม

11 ก.ย. 2566 | 17:10 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2566 | 17:12 น.

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เผยสาเหตุโรคฝีดาษลิง (Mpox) หรือ ฝีดาษวานร ระบาดแล้วยากที่จะควบคุมได้ ระบุความรุนแรงของโรคน้อยบางรายขึ้นตุ่มไม่กี่ตุ่ม หรือไม่ทราบ ทำให้ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคแต่สามารถแพร่กระจายโรคนี้ได้

สถานการณ์ "โรคฝีดาษลิง" ล่าสุดในประเทศไทย จากข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ระบุมีรายงานผู้ป่วยรวม 316 ราย และเสียชีวิตแล้ว 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง  โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan ระบุถึงสถานการณ์โรคระบาด Mpox หรือที่รู้จักกันว่า "ฝีดาษลิง" และ "ฝีดาษวานร" ที่ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยร่วมแสนคน

สำหรับประเทศไทยจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงปัจจุบันหลังจากมีการจัดงาน prime festival

สาเหตุที่ ฝีดาษลิง (Mpox) ระบาดแล้วยากที่จะควบคุม

1.ความรุนแรงของโรคนี้มีความรุนแรงน้อยมาก ในบางรายขึ้นตุ่มไม่กี่ตุ่ม หรือไม่ทราบ ดังนั้นจำนวนหนึ่งจะไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษา และสามารถแพร่กระจายโรคต่อไปได้

2.การระบาดมีความสัมพันธ์กับเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย เช่นเดียวกับ HIV ก็ยากที่จะควบคุมหรือกำจัดให้หมดไป แต่ Mpox ดีกว่า HIV ตรงที่โรคหายขาดไม่เรื้อรัง

3.การป้องกันด้วยวัคซีน วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันใช้ป้องกันฝีดาษคน เมื่อนำมาป้องกันฝีดาษ Mpox ประสิทธิภาพในการป้องกันลดลง ไม่ได้ 100% แบบการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ ดังนั้น ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังเป็นโรคได้

4.วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีราคาแพงมาก ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถที่จะนำมาใช้ได้

5.แหล่งแรงโรค อยู่ในสัตว์ตระกูลหนูหรือฟันแท้ จะเห็นได้จากการระบาดเมื่อ 20 ปีก่อนในอเมริกามีการนำเอาหนู Giant Gambian rat นำเข้าไปในอเมริกาและไปเลี้ยงรวมกับ แพรี่ด็อก เชื้อได้ข้ามไปสู่แพรี่ด็อกและเข้ามาสู่คน ทำให้เกิดการระบาดมากกว่า 40 คน

6.ประเทศกำลังพัฒนาที่มีสุขอนามัยไม่ดี เชื้อ Mpox อาจหลุดลงไปและไปสู่สัตว์พันธุ์แท้โดยเฉพาะหนู ที่จะเป็นแหล่งเพราะพันธุ์ของโรค และอาจจะแพร่พันธุ์ไปสู่สัตว์อื่น จะยิ่งทำให้ยากในการควบคุม

7.การดูแลป้องกันลดการแพร่กระจายในประเทศกำลังพัฒนา จะต้องออกแรงมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วด้วยสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่จำกัด

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของโรคฝีดาษวานรในประเทศไทยนั้น จากข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานพบ ผู้ป่วยรวม 316 ราย เสียชีวิต 1 รายเป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง พบในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมากถึง 271 ราย (ร้อยละ 85.8) ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 143 ราย (ร้อยละ 45.3) มีสัญชาติไทย 277 ราย ชาวต่างชาติ 36 ราย ไม่ระบุ 3 ราย

ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 198 ราย, ชลบุรี 22 ราย, นนทบุรี 17 ราย, สมุทรปราการ 12 รายผู้ป่วย ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าว พบผู้ป่วยฝีดาษวานรอายุเพียง 16 ปี ด้วยซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ฝีดาษลิงเริ่มพบในคนอายุน้อยมากขึ้น