คำวินิจฉัยเกี่ยวกับ “แอสปาร์แตม” (Aspartame) สารให้ความหวานแทนน้ำตาล มาจากคณะผู้เชี่ยวชาญของ องค์การอนามัยโลก (WHO) สองชุด โดยชุดหนึ่งค้นหาว่า มีหลักฐานใดบ้างที่บ่งชี้ว่าสารดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดอันตราย ขณะที่อีกชุดหนึ่งประเมินว่าสารดังกล่าวมี “ความเสี่ยง” ในชีวิตจริงมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ แอสปาร์แตม คือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ถูกใช้มากที่สุดชนิดหนึ่งในโลก โดยใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมายของบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลก ตั้งแต่น้ำอัดลมปราศจากน้ำตาลของโคคา-โคลา ไปจนถึงหมากฝรั่งมาร์ส เอ็กซ์ตรา (Mars’ Extra) และเครื่องดื่มชาและน้ำผลไม้ของแบรนด์สแนปเปิล (Snapple)
ในการแถลงข่าวก่อนการประกาศดังกล่าว นายฟรานเชสโก บรังกา หัวหน้าฝ่ายโภชนาการของ WHO พยายามช่วยผู้บริโภคให้เข้าใจประกาศที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มองหาสารให้ความหวานเทียมเพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาล
ในการประกาศครั้งแรก สถาบันการวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ระบุว่า แอสปาร์แตม (Aspartame) เป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งการจัดประเภทดังกล่าวหมายความว่า แม้มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่บ่งชี้ว่าสารดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ ก็จะถูกจัดเข้ากลุ่มนี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม JECFA ซึ่งเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญร่วมด้านวัตถุเจือปนในอาหารที่จัดตั้งขึ้นผ่านความร่วมมือกันระหว่างองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ WHO นั้น ไม่ได้ระบุแต่อย่างใดว่า แอสปาร์แตมปริมาณเท่าใดที่สามารถบริโภคได้โดยปลอดภัย
หลังจากดำเนินการตรวจสอบอย่างครอบคลุมแล้ว JECFA ระบุในวันนี้ (14 ก.ค.) ว่า ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากแอสปาร์แตม และยังคงแนะนำให้ประชาชนรักษาระดับการบริโภคแอสปาร์แตมให้ต่ำกว่า 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน