รู้จักไวรัสโรค FIP ต้นเหตุแมวตายเกลื่อนเกาะไซปรัสกว่า 3 แสนตัว

12 ก.ค. 2566 | 09:02 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2566 | 21:24 น.
564

หัวใจทาสแมวสั่นระรัว เมื่อเกิดโรคระบาดใหญ่ใน"ไซปรัส" ประเทศเกาะที่ได้ชื่อว่า “เกาะแมว” เนื่องจากมีประชากรแมวจำนวนมาก กำลังเผชิญกับไวรัสร้ายโรค FIP ที่คร่าชีวิตแมวแล้วกว่า 300,000 ตัว เพราะเป็นเชื้อที่ติดได้ง่ายมาก แต่ไม่ติดต่อคน

 

จากกรณีสื่อต่างประเทศรายงานเกี่ยวกับ “ไซปรัส” ซึ่งเป็นประเทศเกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและเป็นที่รู้จักในชื่อ “เกาะแห่งแมว” กำลังเกิด ไวรัสระบาดหนัก ซึ่งตั้งแต่ต้นปี มีการติดเชื้อและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนคร่าชีวิตแมวบนเกาะไปแล้วกว่า 300,000 ตัว ส่วนใหญ่เป็นแมวจรจัดที่พบเห็นได้ทั่วไปบนเกาะแห่งนี้ แพทย์ระบุว่า ต้นเหตุการเสียชีวิตคือ โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว หรือ เอฟไอพี (FIP) ที่เกิดจากเชื้อไวรัส แม้จะไม่ติดต่อคน แต่ในแมวติดได้ง่ายมาก เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางป้องกันน้องแมวสุดรักที่เราเลี้ยง ให้ห่างไกลโรคร้าย 

ไม่ติดต่อคน แต่ร้ายแรงสำหรับแมว

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว (feline infectious peritonitis หรือ FIP) เป็นโรคติดเชื้อที่สำคัญในแมว โดยโรคนี้มีความรุนแรงและมีอัตราการรอดชีวิตค่อนข้างต่ำ เกิดจากไวรัสโคโรนาในแมว (feline coronavirus หรือ FCoV) ซึ่งไวรัสโคโรนาในแมวนั้น เป็นคนละสายพันธุ์กับเชื้อไวรัสโคโรนาในคนที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้

FCoV เป็นไวรัสที่สามารถพบได้ในลำไส้ของแมวและก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร โดยส่วนมากมักพบในแมวที่ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่หนาแน่น ทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อ FCoV ผ่านทางอุจจาระ (fecal-oral transmission) อีกทั้งยังโน้มนำทำให้เกิดความเครียดและเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อมากขึ้น

FIP ไม่ติดต่อคน แต่ร้ายแรงสำหรับแมว

เนื่องจาก FIP เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดอักเสบ หากเกิดขึ้นกับอวัยวะใดๆนั้นก็จะเป็นผลเสียทำลายระบบต่างๆ สามารถพบได้บ่อยว่ามีผลกับอวัยวะในช่องท้อง อวัยวะในช่องอก ตา และรวมถึงระบบประสาท

ไวรัสโคโรนาในแมว แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ virulent feline coronavirus FCoV และ Genetic recombination ซึ่งทั้งสองชนิดแสดงอาการเหมือนกัน โดยจะเป็นไข้ ท้องบวม อ่อนเพลีย และแมวอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว

เนื่องจากโรคนี้มีการพัฒนาของโรคอย่างเงียบ ๆ เจ้าของจึงมักไม่ทันได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในสุขภาพของแมวจนกระทั่งแมวแสดงอาการที่รุนแรงแล้ว โดยแมวอาจแสดงอาการแบบใดแบบหนึ่ง หรือบางตัวอาจพบอาการทั้งสองรูปแบบพร้อมกันก็ได้ ซึ่งแบ่งเป็น อาการแบบเปียก (effusive form) และแบบแห้ง (non-effusive form) นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น ซึม ไม่กินอาหาร มีไข้ น้ำหนักลด เหงือกซีดหรือเหลือง เป็นต้น

อาการแบบเปียก

แมวที่เป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อแบบเปียก มักมาด้วยการสะสมของเหลวในช่องท้อง ที่เป็นผลมาจากการอักเสบของหลอดเลือด เนื่องจากการจับของ immune complex บริเวณหลอดเลือด โดยจะสังเกตเห็นว่าช่องท้องขยายใหญ่ หรือมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็ว หรือมีความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ เนื่องจากการสะสมของเหลวในช่องอกหรือในเยื่อหุ้มหัวใจ อย่างไรก็ตามแมวบางตัวที่มีของเหลวในช่องอก และ/หรือช่องท้อง อาจไม่แสดงอาการทางคลินิกได้เช่นกัน

อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น ซึม ไม่กินอาหาร มีไข้ น้ำหนักลด เหงือกซีดหรือเหลือง

อาการแบบแห้ง

มักสังเกตอาการได้ยากกว่า เนื่องจากไม่มีการสะสมของของเหลว แต่อาจพบก้อนผิดปกติในช่องท้อง หรือ pyogranulomatous lesions ที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้าง immune complexes รวมกับสารประกอบบนผนังหลอดเลือด ประกอบกับการมีเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบเข้ามายังตำแหน่งดังกล่าว โดยอาการส่วนใหญ่มักจะไม่จำเพาะ เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร ซึม หรืออาจพบอาการทางระบบประสาท เช่น การก้าวเดินไม่สัมพันธ์กัน ลูกตากรอกกลิ้งไปมา และชัก หรือความผิดปกติของดวงตา เช่น การเกิดม่านตาอักเสบ ฯลฯ เป็นต้น

ช่วงอายุที่มักจะเป็น

ช่วงอายุที่มีความเสี่ยงสูงที่จะพบได้บ่อย ได้แก่ แมวอายุน้อยกว่า 2 ปี และแมวแก่อายุมากกว่า 17 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง นอกจากนี้ ยังพบมากในแมวเพศผู้ที่ยังไม่ทำหมัน  และในแมวพันธุ์แท้

สายพันธุ์แมวที่มักพบโรคนี้ได้บ่อย

สายพันธุ์ที่พบได้บ่อยได้แก่ Bengals, Abyssinians, Himalayans, Birmans, Rexes, Burmese, Australian Mists, British Shorthairs, Cornish Rex รวมทั้ง Domestic Shorthairs และ Persians

การรักษา

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาด การรักษาเป็นแบบเพื่อช่วยพยุงอาการเท่านั้น

การป้องกัน

การป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว คือ การป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่เป็นตัวการของโรค เนื่องจากปัจจุบันเรายังไม่ทราบกลไกการติดต่อแบบแน่ชัดของเชื้อไวรัสดังกล่าว ดังนั้น แนวทางการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การรักษาความสะอาดภายในบ้าน หมั่นทำความสะอาดกระบะทรายให้สะอาดอยู่เสมอ วางแยกจากชามอาหารของแมวที่ป่วยและแมวสุขภาพดีออกจากกัน ลดความเครียดของแมว เช่น ไม่เลี้ยงรวมกันอย่างหนาแน่น

ควรลดความเครียดของแมว เช่น ไม่เลี้ยงรวมกันอย่างหนาแน่น

ปัจจุบันมีการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อเป็น (modified live non - adjuvant) และให้โดยการหยอดจมูก (intranasal) แต่ยังคงถกเถียงกันในเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนดังกล่าว 

กรณีการป้องกันปัญหาที่ไซปรัส

ประชากรแมวในไซปรัสนั้น เทียบเท่ากับ หรืออาจจะมากกว่าประชากรคนที่มีจำนวนราวๆ หนึ่งล้านคนเศษ

นายแพทย์ Demetris Epaminondas ประธานสมาคมสัตวแพทย์ Pancyprian กล่าวว่า FIP เป็นอันตรายถึงชีวิตและกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประชากรแมวของไซปรัส ส่งผลกระทบต่อทั้งแมวจรจัดและแมวบ้าน

ดังนั้น สัตวแพทย์ในไซปรัสจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาล อนุญาตให้นำเข้ายาราคาถูกสำหรับโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว (FIP) ซึ่งคาดว่าจะคร่าชีวิตแมวไปแล้วราว 300,000 ตัว หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนประชากรแมวจรจัดบนเกาะ

อย่างไรก็ตาม คำขอของสมาคมสัตวแพทย์ในการอนุมัติยาดังกล่าวถูกปฏิเสธโดยแผนกผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์สำหรับสัตว์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากข้ออ้างทางกฎระเบียบและต้นทุนราคาของยาที่แพงมาก ซึ่งเรื่องนี้ ทางกลุ่มสัตวแพทย์ไซปรัส ได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีใช้การตัดสินใจทางการเมือง เพื่อช่วยชีวิตแมว ด้วยการอนุญาตให้นำเข้ายาราคาถูกจากอินเดีย “ก่อนที่จะสายเกินไป”