โรคพิษสุนัขบ้า ถือเป็นอีกโรคหนึ่งที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากมีสัตว์ที่เรียกว่าเป็นสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวของทุกคนเป็นพาหะ
อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสเฟซบุก๊ส่วนตัว (ธีระวัฒน์เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความเกี่ยวความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ว่า
สัตว์นำโรค
คิดว่าลูกสุนัขและแมว ไม่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า
- จริงๆแล้วสุนัขและแมว อายุเท่าใดก็ตามแพร่โรคได้ แม้จะมีอายุเพียง 1 เดือน
คิดว่าสุนัขและแมวเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้น
- จริงๆแล้วเป็นได้ทุกฤดูกาล ฉนั้นการฉีดวัคซีนในสัตว์ไม่จำเป็นต้องรอฤดูกาล และคนเมื่อถูกกัดไม่ว่าฤดูไหนก็ตามต้องได้รับการฉีดยาป้องกัน
คิดว่าหากถูกสุนัขหรือแมวกัดโดยอาการของสัตว์ปกติดี ก็ไม่น่าจะเป็นบ้า
- จริงๆแล้วสุนัขและแมวสามารถแพร่เชื้อโรคได้ ถึง 10 วัน ก่อนจะแสดงอาการ หากถูกสุนัขหรือแมวกัด ถ้าสัตว์ดูยังปกติอย่านิ่งนอนใจ ต้องได้รับการฉีดยาป้องกัน และจับแยกและกักขังสุนัขและแมวนั้นๆ หากแสดงอาการผิดปกติ ต้องตัดหัวนำไปส่งตรวจทันที ถ้าผ่าน 10 วันไปแล้วไม่มีอาการผิดปกติแสดงว่าไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
คิดว่าการฉีดวัคซีนในสุนัขหรือแมวจะป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าได้ 100%
- จริงๆแล้วหากสัตว์ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าแล้วและอยู่ในระยะฟักตัว การฉีดวัคซีนจะไม่ได้ผล ดังนั้นการนำสุนัขและแมวมาเลี้ยงต้องรู้ประวัติพ่อแม่และการเลี้ยงดูที่ผ่านมาอย่างชัดเจน
คิดว่าสุนัขหรือแมวที่ได้รับวัคซีน 1ครั้งจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต ไม่มีโอกาสเป็นบ้า
- จริงๆแล้วยังมีโอกาสเป็นบ้าได้ ดังนั้นสุนัขและแมวต้องได้รับวัคซีน 2 ครั้งในปีแรก และ 1 เข็มต่อปี มิฉะนั้นยังมีโอกาสเป็นบ้าได้เมื่อได้รับเชื้อ ทั้งนี้อาจต่างจากบางประเทศที่เจิรญแล้วที่สุนัขและแมวหลังจากที่ได้รับการฉีดครั้งแรกแล้ว ไม่ต้องฉีดประจำทุกปี ทั้งนี้เนื่องจากโอกาสที่สุนัขและแมวจะได้รับเชื้อมีน้อยมากเหลือเกินและจะทำการฉีดกระตุ้นต่อเมื่อมีการสัมผัสโรคจริง ๆ เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่เป็นประเทศที่ชุกชุมด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข และโอกาสที่สัตว์เลี้ยงจะได้รับเชื้อค่อนข้างมีสูง
คิดว่าสุนัขและแมวที่เราเลี้ยงและเคยได้รับวัคซีนมาก่อนถูกสุนัขบ้ากัดก็ไม่เสี่ยงต่อการติดโรค
- จริงๆแล้วต้องได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำ และกักขังดูอาการอย่างน้อย 45 วัน แต่ถ้าสุนัขและแมวนั้นไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนเมื่อถูกสุนัขบ้ากัด องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทำลายเพราะมีโอกาสติดเชื้อสูง แต่ถ้าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ให้ฉีดวัคซีนทันทีและกักขังดูอาการ 6 เดือนและฉีดวัคซีนซ้ำ 1 เดือนก่อนปล่อย
คิดว่าสุนัขและแมว เท่านั้นที่แพร่เชื้อสู่คนได้
- จริงๆแล้วสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดเป็นโรคและแพร่โรคได้เช่นกัน
การติดเชื้อในคนและการป้องกันโรค
คิดว่าการกัดคนทั้งๆที่ไม่ได้ถูกแหย่เป็นเครื่องแสดงว่าสุนัข แมวนั้นๆเป็นบ้า
- จริงๆแล้วสุนัข แมวที่เป็นบ้า กัดคนโดยที่แหย่หรือไม่ได้แหย่ก็ได้ เมื่อถูกกัด ต้องไปรับการรักษาเช่นกัน
คิดว่าการข่วนจากสุนัขหรือแมวไม่น่าจะติดโรคพิษสุนัขบ้าได้
- จริงๆแล้วการข่วนด้วยเล็บ ก็ทำให้ติดโรคและตายได้ เนื่องจากสุนัข/แมวเลียอุ้งตีนและเล็บ อาจมีไวรัสจากน้ำลายติดค้างอยู่ที่เล็บและแพร่เชื้อได้หากแผลมีเลือดออกแม้เพียงซิบซิบ
เมื่อถูกสุนัขกัด คิดว่าเอารองเท้าตบหรือราดด้วยน้ำปลาจะช่วยฆ่าเชื้อได้
- จริงๆแล้วเมื่อถูกกัดต้องล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่ เป็นเวลา 10 นาที จากนั้นพบแพทย์ทันที เพื่อล้างแผลอีกครั้ง และ ฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาไอโอดีน ควรหลีกเลี่ยงการเย็บแผล ถ้าจำเป็นเย็บได้หลวมๆ การเย็บปิดแผลจะส่งเสริมให้เชื้อเข้าเส้นประสาทได้ไวและเร็วขึ้น การปฎิบัติตามความเชื่อผิดๆเหล่านี้ทำให้มีคนเสียชีวิตมานักต่อนัก
เมื่อถูกสุนัขหรือแมวที่มีเชื้อกัด คิดว่ามีโอกาสรอดแม้ไม่ได้รับการรักษา
- จริงๆแล้วถ้าคนถูกกัดแล้วมีอาการจะเสียชีวิตทุกรายภายใน 5-11 วัน แต่คนที่รอด ไม่ได้หมายความว่าคาถาดี ทั้งนี้ เพราะ ไม่มีไวรัสในน้ำลายตลอดเวลา ซึ่งพบได้ 30-80% หรือเฉลี่ยครึ่งต่อครึ่ง
คิดว่ารอให้สุนัข/แมว ที่กัดแสดงอาการหรือตายก่อน จึงค่อยพาคนที่ถูกกัดไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีน
- จริงๆแล้วการฉีดยาป้องกันที่ได้ผลสูงสุด อยู่ในช่วง 48 ชั่วโมงหลังถูกกัด และถ้าแผลมีเลือดออกไม่ว่าตำแหน่งใดของร่างกายต้องได้เซรุ่ม(อิมมูโนโกลบูลิน)ชนิดสกัดบริสุทธิ์ ฉีดที่แผล ให้เพียงพอเท่านั้น ไม่ต้องฉีดปริมาณตามขนาด น้ำหนักแล้ว