"ไข้เลือดออก" ภัยเงียบจากยุงลาย เช็กอาการเสี่ยงระยะแรกสังเกตเห็นได้ 

06 ก.ค. 2566 | 16:10 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2566 | 16:12 น.
842

"ไข้เลือดออก" อันตรายหน้าฝนโรคร้ายจากยุงลายแต่สามารถป้องกันได้ กรมควบคุมโรค เผยอาการไข้เลือดออกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ มีอะไรบ้าง สังเกตเห็นได้อย่างไร คลิกอ่านรายละเอียดได้ที่นี่

กรมควบคุมโรค คาดการณ์สถานการณ์ไข้เลือดออกในประเทศไทยว่า จะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนหน้านี้ โดยล่าสุดมียอดผู้ป่วยสะสมแล้วมากกว่า 20,000 รายซึ่งวิธีการที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงลายกัดนั่นเอง อย่างไรก็ดี เราทุกคนต่างมีความเสี่ยงกับการถูกยุงกัดได้ ดังนี้ การสังเกตจากอาการที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือเป็นการเตรียมความพร้อมที่สุดที่สุดวิธีการหนึ่ง 

รู้จักกับ "โรคไข้เลือดออก" 

ไข้เลือดออก จัดเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกิ ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ สามารถแพร่ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ  

ลักษณะของโรคที่สำคัญ 

มีไข้สูง มีอาการเลือดออก และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจทำให้เกิดภาวะช็อกซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ จึงต้องมีการ ติดตาม เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของโรคอย่างใกล้ชิด และให้การรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เกิดภาวะช็อก

อาการไข้เลือดออก

1.ระยะแรก

  • มีไข้สูงประมาณ 5-7 วัน
  • อาจจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • มีผื่นหรือจุดแดงตามร่างกาย แขน ขา
  • บางรายอาจจะเบื่ออาหาร และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

2.ระยะวิกฤต (เป็นระยะที่ต้องระวังมากที่สุด)

  • ผู้ป่วยจะมีอาการเพลียและซึม
  • ปัสสาวะออกน้อย
  • มีอาการปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณชายโครงขวา
  • มีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นสีดำ
  • ในระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง มือเท้าเย็น ความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เกิดอาการช็อกจนเสียชีวิตได้ 

3.ระยะฟื้นตัว

  • คนไข้เริ่มมีอาการดีขึ้น ความดันโลหิตเริ่มกลับมาคงที่
  • ปัสสาวะออกมาขึ้น เริ่มกลับมามีความอยากอาหารมากขึ้น
  • อาการปวดท้อง ท้องอืดลดลง
  • มีเรี่ยวแรงมากขึ้น โดยระยะเวลาทั้งหมดของไข้เลือดออกนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 7-10 วัน

ข้อแนะนำในการดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

เบื้องต้นในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกขณะที่อยู่ที่บ้านสามารถทำได้ ดังนี้

1.เช็ดตัวเพื่อลดไข้ โดยใช้ผ้าถูตัวชุบน้ำบิดหมาดๆ แล้วเริ่มเช็ดที่ใบหน้า คอ หลังหู จากนั้นจึงค่อยประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับต่าง ๆ

2.ดื่มน้ำมาก ๆ โดยในรายที่อาเจียนแนะนำให้จิบน้ำเกลือแร่เพื่อบรรเทาอาการอ่อนเพลียและให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ

3.ให้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ได้ แต่ห้ามใช้ยาลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไพริน หรือ ibuprofen

4.ติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรง เช่น อาเจียน ปวดท้องบริเวณชายโครงขวามาก มีเลือดออกรุนแรง ตัวเย็น มือเท้าเย็น ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง หรือ ซึมลงและไม่ค่อยรู้สึกตัว ให้รีบพามาพบแพทย์ทันที

วิธีรักษาอาการไข้เลือดออก

การพาผู้ป่วยเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะดีต่อผู้ป่วยมากที่สุดเพราะหากได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก

วิธีป้องกันไข้เลือดออก

เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนที่สามารถรักษาอาการไข้เลือดได้โดยตรง การป้องกันตัวเองไม่ให้ได้รับเชื้อไวรัสเดงกี คือ การป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงลายกัดนั่นเองซึ่งสามารถป้องกันได้ดังนี้

1. ป้องกันตัวเอง

  • สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด
  • นอนในห้องที่มีมุ้งหรือมุ้งลวดเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด
  • ใช้ยาทากันยุงชนิดทาผิว

2. กำจัดแหล่งพาหะ

  • ภาชนะเก็บน้ำต้องมีฝาปิดเสมอ
  • เปลี่ยนน้ำในแจกัน หรือกระถางทุก 7 วัน
  • ฉีดพ่นสารเคมีหรือยากันยุงเพื่อกำจัดยุงลายเต็มวัย

3. วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

  • สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกนี้แนะนำให้ฉีดในรายที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำซึ่งจะลดความรุนแรงและได้ผลดีกว่า

 

\"ไข้เลือดออก\" ภัยเงียบจากยุงลาย เช็กอาการเสี่ยงระยะแรกสังเกตเห็นได้