อาการแบบนี้เป็น “ไข้หวัด” หรือ “ไข้เลือดออก” เช็คอาการที่ต้องเฝ้าระวัง

03 มิ.ย. 2566 | 18:30 น.

อาการแบบนี้เป็น “ไข้หวัด” หรือ “ไข้เลือดออก” เช็คอาการที่ต้องเฝ้าระวัง หากพบความผิดปกติต้องรีบพบแพทย์ทันที

เข้าหน้าฝนทีไรมีหลายโรคที่ต้องเฝ้าระวัง หนึ่งในนั้นคือ "โรคไข้เลือดออก" ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำเชื้อโรคสู่คน ตามปกติยุงนั้นเป็นสัตว์ที่พบได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงฤดูฝนที่มี ฝนตก น้ำท่วมขัง สภาพอากาศชื้นแฉะ เกิดแอ่งน้ำ มีน้ำขังตามภาชนะที่วางทิ้งเอาไว้นอกบ้าน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง ทำให้การขยายพันธุ์ของยุงเกิดมากในช่วงนี้

ไข้เลือดออก มี 4 สายพันธุ์ พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่ที่พบบ่อยคือ ในเด็กวัยเรียนและวัยทํางาน จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา คุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่า 2,500 ล้านคน โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ตอนกลางของทวีปอเมริกา รวมทั้งประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น

สังเกตอาการของโรคไข้เลือดออก
อาการของโรคจะแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล แต่โดยส่วนใหญ่ที่พบ ดังนี้ 

  • มีไข้สูงเฉียบพลัน เกิน 5 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติ
  • มีเลือดออกที่ผิวหนัง เป็นจุดเลือดเล็กๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดา หรือเลือดออกตามไรฟัน
  • ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อก

สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุด คืออาการช็อก

  • ทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว บางรายมีภาวะตับโต กดเจ็บ ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับตั้งแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่มและกดเจ็บ
  • มีภาวการณ์ไหลเวียนล้มเหลว ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง โดยเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือภาวะช็อก เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด ช่องท้อง เกิด hypovolemic shock ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว
  • เวลาที่เกิดอาการช็อก ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค หรือวันที่ 8 ของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา เร็ว และความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง