ค่าดัชนีความร้อนพุ่ง!19 พ.ค.นี้ บางนาทะลุ 54 องศา

17 พ.ค. 2566 | 16:16 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2566 | 16:22 น.

กรมอุตุนิยมวิทยา เผยค่าดัชนีความร้อนวันที่ 19 พ.ค.เขตบางนา ฮอทปรอทแตกทะลุ 54 องศา อยู่ในระดับอันตรายมาก ตามมาด้วย ชลบุรี 52.3 องศา

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน ตั้งแต่วันที่ 17-19 พฤษภาคม 2566 โดยในวันที่ 19 พ.ค.เขตบางนา กทม.มีค่าดัชนีความร้อนสูงถึง 54.0 องศา ซึ่งถูกจัดอยู่ในระดับอันตรายมาก ขณะที่พื้นที่จังหวัดชลบุรี ตามมาที่ 52.3 องศา อยู่ในระดับอันตราย ทั้งนี้สามารถตรวจสอบการคาดการณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวันในแต่ละจังหวัดแต่ละภาคได้ดังนี้ 

วันที่ 19 พ.ค.66
ภาคเหนือ เพชรบูรณ์ 

  • ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 48.8 องศาเซลเซียส 
  • ระดับเตือนภัย อันตราย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม

  • ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 43.9  องศาเซลเซียส 
  • ระดับเตือนภัย อันตราย

ภาคกลาง บางนา กทม.

  • ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน >54.0 องศาเซลเซียส 
  • ระดับเตือนภัย อันตรายมาก

ภาคตะวันออก ชลบุรี 

  • ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 52.3 องศาเซลเซียส 
  • ระดับเตือนภัย อันตราย

ภาคใต้ ภูเก็ต

  • ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 48.9 องศาเซลเซียส 
  • ระดับเตือนภัย อันตราย
     

วันที่ 18 พ.ค.66 
ภาคเหนือ เพชรบูรณ์ 

  • ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 44.6 องศาเซลเซียส 
  • ระดับเตือนภัย อันตราย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม

  • ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 42.0 องศาเซลเซียส 
  • ระดับเตือนภัย อันตราย

ภาคกลาง บางนา กทม.

  • ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 46.4 องศาเซลเซียส 
  • ระดับเตือนภัย อันตรายมาก

ภาคตะวันออก ชลบุรี 

  • ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 47.8 องศาเซลเซียส 
  • ระดับเตือนภัย อันตราย

ภาคใต้ ภูเก็ต

  • ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 49.9 องศาเซลเซียส 
  • ระดับเตือนภัย อันตราย

กรมอุตุฯคาดการณ์ค่าดัชนีความร้อนวันที่ 17-19 พ.ค.66

อนึ่งค่าดัชนีความร้อนที่ได้นำเสนอนั้น จะหมายถึงอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร หรือ อุณหภูมิที่ปรากฏขณะนั้นเป็นเช่นไร โดยนำเอาค่าอุณหภูมิของอากาศที่ตรวจวัดได้จริงและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศมาทำการวิเคราะห์หาค่าที่เป็นตัวแทนของอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในสภาวะอากาศขณะนั้น ซึ่งตรงนี้จะไม่ใช่อุณหภูมิที่เครื่องวัดหรือโทรศัพท์แสดง 

ขณะเดียวกันในพื้นที่ที่มีฝนตก อุณหภูมิอากาศและค่าดัชนีความร้อนจะลดลง โดยอาจจะมีค่าสูงในบางช่วงเวลา ส่วนมากก่อนที่ฝนจะตก 

 

ทั้งนี้กรมอนามัย ได้ระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพเกี่ยวกับค่าดัชนีความร้อนในระดับต่างๆได้ดังนี้

ระดับเฝ้าระวัง ดัชนีความร้อน 27 -31.9 องศาเซลเซียส

  • ผลกระทบต่อสุขภาพ คือ อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อนออกกำลังกาย หรือ ใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน

ระดับเตือนภัย ดัชนีความร้อน 32 -40.9 องศาเซลเซียส

  • ผลกระทบต่อสุขภาพ คือ เกิดอาการตะคริวจากความร้อนและอาจเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

ระดับอันตราย ดัชนีความร้อน 41-53.9 องศาเซลเซียส

  • ผลกระทบต่อสุขภาพ คือ ตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดท้องเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดดได้หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

ระดับอันตรายมาก ดัชนีความร้อนมากกว่า 54 องศาเซลเซียส

  • ผลกระทบต่อสุขภาพ คือ เกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke)

ทั้งนี้กรมอนามัยได้แนะนำเกี่ยวกับการรับมือกับอากาศร้อน การดูแลสุขภาพดังนี้ 

  • สังเกตอาการตนเองโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ควรลดกิจกรรมกลางแจ้ง
  • หากจำเป็นควรสวมหมวก แว่นกันแดด สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
  • หากทำงานกลางแจ้งควรทำงานเป็นกลุ่ม
  • หลีกเลี่ยง ชา กาแฟ สุรา น้ำอัดลม
  • เตรียมเบอร์โทรศัพท์โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทร 1669
  • ดื่มน้ำบ่อยๆ