ทำความรู้จัก "ดัชนีความร้อน" ที่ไม่ใช่ รายงานอุณหภูมิ อากาศตามปกติ

16 เม.ย. 2566 | 05:43 น.
10.4 k

ฤดูร้อน 2566 รายงาน "ดัชนีความร้อน" พุ่งสูงทะลุเกิน 50 องศาเซลเซียส "ดัชนีความร้อน" คืออะไร ทำความรู้จักความหมาย และที่มา และประโยชน์ของการรายงาน "ดัชนีความร้อน" ที่ไม่ใช่ อุณหภูมิอากาศตามปกติ

ฤดูร้อน 2566 นี้ หลายพื้นที่มีการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศว่าจะมีสภาพอากาศร้อนจัดมีอุณหภูมิสูง ได้ถึง 43 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่ 

นอกจากการรายงานอุณหภูมิของอากาศแล้ว ยังมีการรายงาน "ดัชนีความร้อน" ซึ่งมักจะมีตัวเลขที่น่าตกใจ โดยเฉพาะในฤดูร้อน 2566 ที่มีการรายงาน "ดัชนีความร้อน" ที่สูงทะลุเกิน 50 องศาเซลเซียส

"ดัชนีความร้อน" คืออะไร

"ดัชนีความร้อน" คือ การนำเอาค่าอุณหภูมิของอากาศที่ตรวจวัดได้จริง และความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศมาทำการวิเคราะห์หาค่าที่เป็นตัวแทนของอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในสภาวะอากาศขณะนั้น 

ดัชนีความร้อนได้มีการศึกษาและพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2521 โดย George Winterling ซึ่งมีข้อสมมุติฐานว่า ดัชนีความร้อนมีส่วนเกี่ยวข้องกับร่างกายของมนุษย์ มวล และความสูง ชนิดของ เสื้อผ้าที่คนเราใช้สวมใส่ จำนวนและชนิดของกิจกรรมที่คนเราได้กระทำ ความหนาของผนังหลอดเลือด พลังงานแสงอาทิตย์และรังสีอุลตราไวโอเร็ต รังสีดวงอาทิตย์ที่สัมผัสกับร่างกายคนเรา และความเร็วลม ซึ่งปัจจัยที่หลากหลายนี้มีความสำคัญต่อความคลาดเคลื่อน ของ"ดัชนีความร้อน"

ดัชนีความร้อน

ประโยชน์ของ "ดัชนีความร้อน"

"ดัชนีความร้อน" สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อทราบถึงผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อนำมาสู่การปฏิบัติตัวเพื่อการดูแลตนเอง โดยค่าดัชนีความร้อนในระดับต่างๆ จะส่งผลต่อสุขภาพแบ่งเป็น 4 ระดับด้วยกัน ดังนี้

ดัชนีความร้อนที่ 27-32 องศาเซลเซียส 
อยู่ในระดับเฝ้าระวัง ทำให้อ่อนเพลียวิงเวียน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความ ออกกำลังกาย หรือการใช้แรงงานกลางแจ้งท่ามกลางอากาศร้อน

ดัชนีความร้อนที่ 32-41องศาเซลเซียส 
อยู่ในระดับเตือนภัย อาจเกิดภาวะตะคริวจากความร้อน และเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

ดัชนีความร้อนที่ 41-54 องศาเซลเซียส 
อยู่ในระดับอันตราย อาจมีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด หรือ ฮีทสโตรก หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

ดัชนีความร้อนมากกว่า 54  องศาเซลเซียส 
อยู่ในระดับอันตรายมาก เสี่ยงต่อการเกิดภาวะลมแดด หรือ ฮีทสโตรก

ดัชนีความร้อน
ดังนั้น ในวันที่ค่าดัชนีอากาศสูง จึงควรหมั่นสังเกตอาการของตนเอง พยายามจิบน้ำเปล่าอยู่เรื่อยๆ ลดกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ สุรา และน้ำอัดลม 

ที่มา กรมอุตุนิยมวิทยา