5 ทริคสร้าง Sustainable Wellness รักษ์โลก ไร้โรค

11 พ.ค. 2566 | 10:35 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2566 | 10:39 น.

เปิด 5 แนวทางสร้าง “พฤติกรรมสุขภาพดีที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Wellness” ลดอันตรายจากโรคไม่ติดต่อ ดีต่อสุขภาพ-ดีต่อโลก

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี พ.ศ. 2565 ผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากกลุ่มโรค NCDs สูงถึง 74% หรือ คิดเป็นจำนวน 45 ล้านคนทั่วโลก และในรายงานนี้ คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs สูงถึง 77% มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก หรือนับเป็นจำนวนเท่ากับ 380,400 คนต่อปี หรือ จะมีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs สูงถึง 44 คน ต่อชั่วโมง

5 ทริคสร้าง Sustainable Wellness  รักษ์โลก ไร้โรค

ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เป็นตัวเร่งให้อันตรายของโรคติดต่อเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนที่ติดเชื้อโควิด19 มีโอกาสเสียชีวิตและเจ็บป่วยรุนแรงมากกว่าคนปกติ 7 เท่า, โรคหลอดเลือดสมอง 3.9 เท่า, โรคเบาหวาน 3 เท่า, โรคหลอดเลือดหัวใจ 2.9 เท่า, และ โรคความดันโลหิตสูง 2.3 เท่า

 

นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ (หมอแอมป์) นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก กล่าว “ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินอาหารที่มากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก การสูบบุหรี่ การเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลง รวมไปถึงปัญหาความเครียด การนอนหลับไม่เพียงพอ และมลภาวะทางอากาศ ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ต้องอาศัยแนวทางการมี “พฤติกรรมสุขภาพดีที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Wellness”

นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ (หมอแอมป์)

ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ให้ความหมายของ Sustainability ไว้ว่า การตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบัน โดยไม่ลดทอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นถัดไป ดังนั้นการสร้างพฤติกรรมสุขภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable health behaviours) ไปพร้อมกับการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความยั่งยืน (Sustainability literacy) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อการมีสุขภาวะที่ดี ไม่เพียงแค่คนในรุ่นปัจจุบัน แต่รวมถึงของคนรุ่นถัดไปอีกด้วย

 

การมีพฤติกรรมสุขภาพดีอย่างยั่งยืน สามารถปฏิบัติง่ายๆ ตามหลักการ 5 ข้อ ดังนี้

5 ทริคสร้าง Sustainable Wellness  รักษ์โลก ไร้โรค

  1. อาหารจากพืชคือ อาหารที่ยั่งยืน

หากทุกคนรับประทานอาหารที่มีพืชเป็นส่วนประกอบ (Plant-based diet) มากขึ้น และหยุดการปล่อยมลพิษจากภาคส่วนอื่นๆ มีโอกาสสูงถึง 50% ที่จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้ 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกันไว้ และหากปรับปรุงระบบการผลิตอาหารออกไปในส่วนต่างๆ เช่น การลดขยะอาหาร (food waste)  โอกาสที่จะทำข้อตกลงได้สำเร็จจะเพิ่มขึ้นเป็น 67 %

 

เพราะการให้ได้มาซึ่งเนื้อวัวหนึ่งกิโลกรัม ทำให้เกิดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศสูงถึง 60 กิโลกรัม  ขณะที่ถั่วเหลืองก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 0.9 กิโลกรัม เท่านั้น ซึ่งปริมาณต่างกันถึง 60 เท่า และทรัพยากรน้ำที่ถูกใช้ในสินค้าปศุสัตว์ก็มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด  

เช่น เนื้อวัว 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำสูงถึง 15,415  ลิตร เนื้อหมู และ เนื้อไก่ ใช้น้ำ 5,988 และ 4,325 ลิตรตามลำดับ ในขณะที่การผลิตพืชผัก 1 กิโลกรัม ลดการใช้ทรัพยากรน้ำลงหลายเท่าตัว โดย ข้าวใช้น้ำ 1,673 ลิตร แอปเปิ้ล 822 ลิตร และมะเขือเทศใช้น้ำเพียง 287 ลิตร เท่านั้น

ผลสำรวจของ Mintel รายงานว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในปีช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2564 ถึงปี พ.ศ. 2565 มีแนวโน้มในการรับประทานเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมสัตว์ลดลง ไม่เพียงแต่เหตุผล ทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงเหตุผลทางด้านสุขภาพด้วย แม้ว่าผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ และวีแกน จะมีสัดส่วนคงที่ที่ 3% และ 1% ตามลำดับ แต่สัดส่วนของผู้บริโภคที่รับประทานเนื้อสัตว์เป็นหลัก (Carnivore) ลดลง จาก 33% เหลือ 28% และแนวโน้มการหันมารับประทานแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) เพิ่มมากขึ้นจาก 10% เป็น 13%

สำหรับประเทศไทยการหันมาหาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อย่างการบริโภคพืชผักสวนครัวที่หาได้ตามท้องถิ่น หรือผักผลไม้ตามฤดูกาล ช่วยสนับสนุนแนวทางการรับประทานอาหารสุขภาพแบบยั่งยืนได้ เพราะสามารถลดการใช้น้ำ สารเคมี และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตและการขนส่ง อีกทั้งการรับประทานอาหารพื้นบ้านแบบไทยๆ ที่อุดมไปด้วยผักและสมุนไพรหลากหลายชนิด ยังให้คุณประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะมีวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระสูง และยังผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยอีกด้วย 

 

  1. ออกกำลังกาย หรือ กิจกรรมทางกายที่ยั่งยืน (Exercise and Sustainable Physical Activity)

รายงาน ของ Mintel ระบุว่าพฤติกรรมการเดินทางของผู้คนเปลี่ยนไปมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้คนกังวลถึงเรื่องความปลอดภัย ความสะอาดในระบบขนส่ง สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้มีแนวโน้มหันไปใช้การเดินเท้า หรือการปั่นจักรยาน แทนการใช้รถ เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกายและทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย

 

  1. อากาศดี เริ่มต้นที่พฤติกรรมสุขภาพ

อากาศที่ไม่ดีนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การระคายเคืองที่ตา จมูกและคอ อาการไอ อาการภูมิแพ้ การหายใจลำบาก หรือส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งในระยะยาวมลพิษทางอากาศ เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด และยังส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง

การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ไม่ว่าจะเป็น การไม่สูบบุหรี่ การลดการบริโภคอาหารแปรรูป หรือหลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์ส่วนตัว มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อน และลดการสร้างฝุ่น PM2.5 และ PM10 จากเครื่องยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้อากาศสะอาด ลดความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น ไม่เฉพาะแค่ตัวเรา แต่รวมไปถึงครอบครัวและผู้คนอื่นๆ บนโลกอีกด้วย

 

  1. การนอนหลับที่ดีและยั่งยืน

ยิ่งมนุษย์เรานอนหลับน้อยลงมากเท่าใด ก็ยิ่งเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น และการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพและระยะเวลาไม่เพียงพอ ยังส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น โรคหัวใจและหลอดเลือด ปัญหาสุขภาพจิต และระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง การที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระบบการรักษาพยาบาล เป็นการเพิ่มของเสียทางการแพทย์ ที่มีทั้งขยะติดเชื้อ ของมีคม สารเคมี สารกัมมันตภาพรังสี

 

การกำจัดของเสียที่ไม่เหมาะสม สามารถทำให้เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ได้และการเผาทำลายก็ต้องใช้อุณหภูมิสูง การนอนหลับที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน จึงไม่ใช่เพียงแค่การดูแลสุขภาพของตัวเองเท่านั้น แต่เป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

 

  1. กิจกรรมอาสา ช่วยสร้างอารมณ์แห่งความสุข

สิ่งแวดล้อมรอบตัว ส่งผลต่อสุขภาพจิต และอารมณ์ของผู้คนเป็นอย่างมาก หากสิ่งแวดล้อมดี มลภาวะน้อย จิตใจก็จะแจ่มใส ความเครียดลดน้อยลง กิจกรรมจิตอาสา เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น การปลูกต้นไม้ การเก็บขยะตามแม่น้ำลำคลอง ชายหาด หรือท้องถนน การช่วยคัดแยกขยะของชุมชน รวมไปถึง กิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับส่งต่อความรู้ที่ถูกต้อง 

 

“ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้สุขภาพของเราแข็งแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อโลกของเราอีกด้วยพฤติกรรมสุขภาพที่ดี สู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน เพราะการที่คนมีสุขภาพที่ดี จะช่วยเอื้อต่อการพัฒนาทางสังคม เพราะถ้าคนแข็งแรง เจ็บป่วยน้อย ก็จะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ประกอบกับ ถ้าสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมดี อากาศสะอาด อาหารสุขภาพเข้าถึงได้ง่าย  ก็ช่วยส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น”