9 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับ "โควิด 19" ระลอกใหม่ น่ากลัวแค่ไหน เช็คที่นี่

18 เม.ย. 2566 | 08:15 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2566 | 08:25 น.
2.0 k

9 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับ "โควิด 19" ระลอกใหม่ น่ากลัวแค่ไหน เช็คที่นี่ หมอยงชี้เพิ่งเริ่มต้นและจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงจุดสูงสุดเดือนมิถุนายนและจะลดลงเดือนกันยายน

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสเฟสบุ๊กส่วนตัว (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความเกี่ยวกับโควิด 19  การระบาดรอบใหม่กับสายพันธุ์ใหม่ดาวดวงแก้ว

หมอยงบอกว่า การระบาดรอบใหม่ของโควิด 19 เพิ่งเริ่มต้น สิ่งที่ควรรู้ ประกอบด้วย 

1.การระบาดเพิ่งเริ่มต้นและจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปถึงจุดสูงสุดเดือนมิถุนายนและจะไปลดลงในเดือนกันยายนตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ

2.ทำไมต้องเริ่มสูงกลางเดือนพฤษภาคม

  • เป็นฤดูฝน
  • นักเรียนเปิดเทอม นักเรียนเป็นผู้แพร่กระจายที่ดี
  • เป็นแล้วเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้มีโอกาสเป็นได้อีก

3.สายพันธุ์ของไวรัสมีการเปลี่ยนแปลง จากรูป การศึกษาสายพันธุ์ในประเทศไทยของศูนย์ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่มกราคมเป็นต้นมาสายพันธุ์จะเป็น โอมิครอน BA.2.75 และก็เปลี่ยนมาเป็น XBB.1.5 ในเดือนมีนาคม และกำลังจะเปลี่ยนเป็น XBB.1.16 หลังจากนี้อีกไม่นาน อย่างไรก็ตามก็ยังอยู่ในตระกูล XBB 

สายพันธุ์ของไวรัสโควิดที่มีการเปลี่ยนแปลง

4.ทำไมต้องเป็นสายพันธุ์ดาวดวงแก้ว  สายพันธุ์ BA.2.75 ระบาดในอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยตามหลังอเมริกา ในอเมริกาจากสายพันธุ์ BA.2.75 เปลี่ยนเป็น BQ.1.1 แล้วจึงมาเป็น XBB.1.5 (สายพันธุ์นี้คือ Kraken ปลาหมึกยักษ์ที่คอยจมเรือทะเล) เดือนที่ผ่านมามีสายพันธุ์ใหม่ที่มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก 1 ตำแหน่งในหนามแหลมเกิดขึ้นที่อินเดีย คือสายพันธุ์ XBB เช่นเดียวกันเรียกว่า XBB.1.16 หรือ สายพันธุ์ดาวดวงแก้ว (Arcturus) แพร่กระจายได้เร็วกว่า XBB.1.5 ประมาณ 1.2 เท่า และระบาดอย่างรวดเร็วมากกว่า 20 ประเทศแล้ว  ประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นสายพันธุ์ดาวดวงแก้วเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ปลาหมึกยักษ์แน่นอน

5.ความรุนแรงของโรคสายพันธุ์ดาวดวงแก้ว (XBB.1 .16) จากอินเดียไม่ได้รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดิม แต่แพร่ระบาดง่าย เมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมากก็ต้องพบผู้ป่วยอาการมากเป็นอัตราส่วนปกติ  มีอาการบางอย่างแตกต่างไปบ้าง เช่น ตาแดงในเด็ก

6.การดูแลรักษา ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จะเฝ้าระวังอันตรายในกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี

7.วัคซีนและภูมิต้านทานสายพันธุ์ XBB ทุกตัว หลบหลีกภูมิต้านทานเดิมได้ดี จึงเป็นแล้วเป็นอีกได้ ภูมิที่เกิดจากวัคซีนที่ใช้ในการลดความรุนแรงของโรค ใช้เพิ่มขึ้น ภูมิต้านทานชนิดสำเร็จรูป LAAB จะไม่ได้ผลในกลุ่มสายพันธุ์ XBB

8.วัคซีนที่ใช้ไม่มีวัคซีนเทพ ทุกตัวไม่แตกต่างกัน แนะนำให้วัคซีนกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง 607  ที่ได้รับวัคซีนมานานแล้วมากกว่า 6 เดือน ส่วนสตรีตั้งครรภ์ให้พิจารณากระตุ้นตามความเหมาะสม วัคซีนจะปรับเป็นการให้วัคซีนประจำปี ควรให้ก่อนเข้าฤดูฝน หรือจะเริ่มฉีดได้เลย เพื่อป้องกันการระบาดและจุดสูงสุดที่กำลังจะเข้ามาในเดือนหน้าช่วงฤดูฝน การให้วัคซีนกระตุ้นอาจพิจารณาให้ในผู้ที่เสี่ยงต่อการติดโรคเช่นผู้ที่สัมผัสกับผู้คนเป็นจำนวนมาก บุคลากรด่านหน้า คล้ายกับการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ส่วนในคนปกติที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ก็คงขึ้นอยู่กับความสมัครใจ

9.มาตรการในการป้องกันที่สำคัญก็คงเหมือนเดิม สิ่งที่จะต้องเน้นคือ สถานที่มีบุคคลอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เรือนจำ ในโรงเรียน ดูแลเรื่องความสะอาด สุขอนามัย ล้างมือเป็นนิจ นักเรียนที่ป่วยไม่ควรไปโรงเรียน ผู้ป่วยทุกคนควรจะต้องใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด และมีระเบียบวินัย

เมื่อสายพันธุ์ ปลาหมึกยักษ์ (Kraken) XBB.1.5 มาแทนที่ BA.2.75 แล้ว ต่อไปสายพันธุ์ดาวดวงแก้ว XBB.1.16 ติดต่อได้ง่ายกว่าก็จะเข้ามาแทนที่เป็นตัวต่อไปตามวัฏจักรวงจร ดาวดวงแก้วหรือดาวยอดมหาจุฬามณีนี้ฟังดูเพราะกว่าสายพันธุ์ก่อน น่าจะมีผลต่อจิตใจเราบ้าง