ภาครัฐ-สว.ถอดบทเรียน ระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดซีพี จัดการ PM 2.5

12 เม.ย. 2566 | 11:13 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2566 | 11:30 น.

ภาครัฐ -สว. เตรียมถอดบทเรียนระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดของซีพี จัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของประเทศอย่างยั่งยืน ปราศจากบุกรุกป่า ปลอดการเผา ใช้แอปให้ความรู้เกษตรกรปลูกตามหลักวิชาการ

รายงานข่าวภายหลังการประชุมจัดทำระบบฐานข้อมูล PM 2.5 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)กรมวิชาการเกษตร นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ GISTDA เครือซีพี

ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับจุดความร้อนจากภาพถ่ายดาวเทียมของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์และบูรณาการฐานข้อมูล นำไปสู่การใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นระบบและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อต่อยอดความร่วมมือจัดการปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา และสปป.ลาว

ภาครัฐ-สว.ถอดบทเรียน ระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดซีพี จัดการ PM 2.5

โดยที่ประชุมได้ยกระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดที่ซีพีพัฒนาขึ้นและนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการจัดหาวัตถุดิบข้าวโพดอย่างยั่งยืน ปราศจากการบุกรุกพื้นที่ป่า และปลอดการเผา พร้อมนำเทคโนโลยีบล็อกเชน และภาพถ่ายดาวเทียม (จีพีเอส) มาช่วยการเก็บและตรวจสอบข้อมูลอย่างโปร่งใสและแม่นยำ  ซีพียังได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ฟ.ฟาร์ม เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรในการปลูกข้าวโพดตามหลักวิชาการ เพิ่มประสิทธิภาพกาเพาะปลูก ลดต้นทุนการผลิต

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะถอดบทเรียนระบบการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อนำไปเป็นแนวทางการบริหารจัดการเพาะปลูกเพื่อลดการเผาหลังเก็บเกี่ยวให้กับเมียนมาและสปป.ลาวในการประชุมร่วมกันในปลายเดือนเมษายนนี้

ภาครัฐ-สว.ถอดบทเรียน ระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดซีพี จัดการ PM 2.5

ทั้งนี้ จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของจิสด้า ใน 17 จังหวัดภาคเหนือต้นปีนี้ พบว่า จุด hot spot เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สูงถึง 95.6%  พื้นที่ชุมชน 75.4%  ส่วนพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวมีการเผา 56.6% ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวโพดมีการเผาเพียง 10.7% พื้นที่ปลูกอ้อย10.8% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมจะต้องรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์และขยายผลการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5  รวมไปถึงการปรับปรุงมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะกำหนดให้การไม่เผาหลังการเก็บเกี่ยวเป็นเงื่อนไขสำคัญในโครงการประกันราคาและประกันรายได้พืชเกษตรหลักในอนาคต