โรคมะเร็ง ถือเป็นโรคชนิดไม่ติดต่อที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นลำดับต้นๆ และยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงอีกด้วย สำหรับประชาชนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) หรือบัตร 30 บาท สามารถใช้สิทธิรักษาโรคมะเร็งได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ทุกโรงพยาบาลในระบบทั่วประเทศ โดยนโยบาย Cancer Anywhere หรือ โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ (ทั่วประเทศ) เพื่อลดขั้นตอนการส่งตัวตามระบบ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ใช้สิทธิบัตรทอง รักษาโรคมะเร็งได้เมื่อไหร่
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีโครงการชื่อ Cancer Anywhere หรือ โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ (ทั่วประเทศ) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) หรือบัตร 30 บาทที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว
ใช้สิทธิบัตรทอง รักษาโรคมะเร็งได้อย่างไร
เมื่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง สามารถเข้ารับการรักษาที่หน่วยบริการที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งใน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแห่งใดก็ได้ โดยต้องยื่นบัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ด เพื่อแสดงตัวตนใช้สิทธิบัตรทองก่อนรับบริการทุกครั้ง
ขั้นตอนในการรักษามะเร็งตามสิทธิบัตรทอง
- ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์ว่าเป็น "โรคมะเร็ง"
- แพทย์ผู้รักษาตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง "เลือกรับการรักษาต่อที่ใด"
- พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ประสานการส่งต่อไปยัง "หน่วยบริการที่พร้อมให้บริการรักษาโรคมะเร็ง" โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้ารับการรักษา ณ หน่วยบริการเฉพาะด้านโรคมะเร็ง
หน่วยบริการ รักษามะเร็งตามสิทธิบัตรทอง
- หน่วยบริการรับการส่งต่อทั่วไปที่มีศักยภาพในการให้เคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ที่สามารถรักษา ผสมยา และการบริหารยาเคมีบำบัด ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือการให้ฮอร์โมน Tamoxifen สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม
- หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษา สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามที่ สปสช.กำหนด
- หน่วยบริการอื่นๆ ให้การรักษาและบริการโรคมะเร็ง ดังนี้
- การตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉับโรคมะเร็งโดยครอบคลุมการประเมินระยะของมะเร็ง (Staging) ตามมาตรฐานของโรคมะเร็งแต่ละชนิด ทั้งนี้ไม่รวมการคัดกรองเบื้องต้น (Screening) หรือการศึกษาวิจัย
- การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคมะเร็ง ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา รวมถึงโรคร่วมที่พบในการรักษาโรคมะเร็งในครั้งนั้น
- การตรวจเพื่อติดตามผลการรักษา (Follow up) ภายหลังการรักษาโรคมะเร็ง และโรคร่วมที่พบในการมารับการรักษาโรคมะเร็งในครั้งนั้น (ตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการรังสีรักษา เคมีบำบัด คลิกที่นี่)