“เพลียแดด” สัญญาณเตือนก่อน “ลมแดด” แนะวิธีสังเกตความแตกต่าง

31 มี.ค. 2566 | 14:59 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2566 | 17:01 น.
676

หลังการเสียชีวิตของ “ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” นักการเมืองชื่อดัง จาก "โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก" ยิ่งทำให้สังคมตระหนักถึงภัยเงียบจากสภาพอากาศร้อนมากขึ้น มีคำแนะนำว่าก่อนเกิดฮีทสโตรก มักจะมี "ภาวะเพลียแดด"เกิดขึ้นก่อน ฐานเศรษฐกิจจะชวนทุกคนมาสังเกตความแตกต่างของ 2 อาการนี้

เวลานี้ทั่วโลกเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากลมแดดทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในยุโรป สหรัฐ รวมถึงญี่ปุ่น บรรดานักวิชาการมองว่า ภาวะนี้รุนแรงกว่าปีที่แล้ว และคาดว่าอนาคตอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าหวั่นวิตกอย่างมาก

อุณหภูมิที่ร้อนจัดสามารถคร่าชีวิตได้ ทั้งทางตรงจากโรคลมแดด และ ทางอ้อมจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มคนมีโรคประจำตัว จากโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อต้องเผชิญอากาศร้อนอาการอาจกำเริบ มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากภาวะลมแดด ช่วงปี พ.ศ.2558-2564 รวมทั้งสิ้น 234 ราย (ข้อมูลจาก ระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์ กรมควบคุมโรค)

การสัมผัสกับความร้อนสูงในตอนกลางวันเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะเวลาอยู่ในสถานที่นั้นเป็นเวลานาน เช่น ทำงานกลางแจ้ง หรือ ออกกำลังกาย  ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เราเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งอาการอ่อนเพลียจากความร้อนที่เรียกว่า “เพลียแดด” และ “โรคลมแดด” ซึ่งอาการมีความคล้าย และแตกต่างกันบางอย่าง 

“เพลียแดด” สัญญาณเตือนก่อน “ลมแดด” แนะวิธีสังเกตความแตกต่าง

ภาวะเพลียแดด เป็น “สัญญาณเตือน”ว่าต้องรีบแก้ไข ก่อนที่จะเกิด “ลมแดด” ซึ่งมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้  เนื่องจากความร้อนทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติ จนกระทั่งทำให้ระบบในร่างกายต่างๆทำงานผิดปกติหรือล้มเหลว เช่น ตับ ไต กล้ามเนื้อสลาย เกลือแร่ผิดปกติ จนเสียชีวิต 

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเกิดภาวะเพลียแดด คือ ย้ายไปอยู่ในสถานที่ที่เย็น หรือห้องแอร์ ปลดเสื้อผ้าที่รัดแน่น ดื่มน้ำเยอะๆขณะมีสติ  อาบน้ำหรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลง