30 มี.ค.2566 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส. 1/2566 หมายเลขแดงที่ ส. 1/2566 ที่มีผู้ยื่นฟ้องขอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้สภาพบรรยากาศในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยมีฝุ่น PM 2.5 ไม่เกินมาตรฐานตามที่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด
จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ต้องสั่งการให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดังกล่าว
รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ที่กำหนดโดยเร็ว ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉยไม่ใช้อำนาจสั่งการตามกฎหมายดังกล่าว
ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
โดยศาลปกครองเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ครม.มีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ดำเนินการตามแนวทางแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ตามที่ ครม.ได้มีมติรับทราบในการประชุมดังกล่าว และตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ภายใต้แผนเฉพาะกิจ
ส่วนการเฝ้าระวังสุขภาพจากแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีค่าเกินมาตรฐาน นั้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2566
ประกอบด้วยมาตรการสำคัญ 3 มาตรการ และได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขในจังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดตาก และในระดับเขตสุขภาพที่ 1 และเขตสุขภาพที่ 2 และมีการเปิดคลินิกมลพิษ ได้แก่ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลกำแพงเพชร และโรงพยาบาลพิจิตร แล้ว
จึงถือว่าการดำเนินการจัดการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ยังอยู่ในระดับที่อยู่ในอำนาจหน้าที่เพื่อการที่ของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามมาตรการและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ภายใต้แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากต่อมา ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน มีค่าสูงขึ้นต่อเนื่องตามเกณฑ์ที่ได้วินิจฉัยไปข้างต้น และเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่อาจจัดการกับสาธารณภัยดังกล่าวได้ ผู้อำนวยการกลางหรือผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ก็ชอบจะพิจารณาเสนอผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณายกระดับเป็นสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่งต่อไป
ดังนั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าสถานการณ์มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกินมาตรฐาน ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงต่อเนื่องระหว่างเดือนม.ค.-ก.พ. 2566 ตามฟ้อง ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ออกคำสั่งตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550
จึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ จึงพิพากษายกฟ้อง