"ดร.อานนท์" แนะ แก้ฝุ่นพิษ PM 2.5 ต้องรู้จักฝุ่นให้มากกว่านี้ อย่าเหวี่ยงแห

17 มี.ค. 2566 | 17:13 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2566 | 08:59 น.

อดีต ผอ. GISDA ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา แนะ แก้ฝุ่นพิษ PM 2.5 ต้องรู้จักฝุ่นให้มากกว่านี้ ด้วยการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง อย่าเหวี่ยงแห

ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5  ที่ไม่เคยจากหายไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นศูนย์กลางทั้งทางเศรษฐกิจ และภาครัฐ ชาวกทม.ต่างคาดหวังว่า ผู้ว่าราชการ กทม.คนใหม่จะสามารถแก้ปัญหาฝุ่นพิษให้กับ กทม.ได้ แต่ผ่านมากว่า 1ปี ดูเหมือนว่ายังไม่มีอะไรดีขึ้น

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นักสมุทรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ (อดีต ผอ. GISTDA) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5  ว่า 

“การแก้ปัญหาฝุ่นต้องเริ่มจากความรู้ ไม่ใช่การใช้ข้อสันนิษฐานเพราะจะทำให้หลงทาง ไม่มีใครเป็นฮีโร่เพียงคนเดียวได้ นายชัชชาติคนเดียวคงแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดแทบจะไม่ได้อยู่ในอำนาจของผู้ว่า กทม.”

ดร.อานนท์ เล่าว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีงบประมาณเพื่อการวิจัยน้อย โดยเฉพาะเมื่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปรับนโยบายโดยมุ่งเน้นไปที่การประยุกต์มากกว่า การศึกษาวิจัยพื้นฐาน จึงทำให้ขาดข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงเพื่อการแก้ปัญหา

กทม.เองควรนำงบวิจัยที่มี มาใช้เพื่อส่วนนี้โดยโจทย์วิจัยต้องชัดเจน คาดว่าใช้เวลาวิจัย 1-2 ปี ก็จะได้ข้อมูลเพียงพอในระดับที่จะวางแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยควรเก็บข้อมูลเพื่อยืนยันให้ได้ว่า ละอองในแต่ละช่วงเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน ในแต่ละสถานที่ มีที่มาจากแหล่งใดบ้าง ในปริมาณเท่าไหร่ และละอองเหล่านั้นถูกขจัดออกไปได้อย่างไร เพื่อวิเคราะห์แหล่งกำเนิดได้ และวางแผนการควบคุมและขจัดละอองเหล่านั้น

หากมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ จะทำให้มาตรการที่ออกมานั้นไม่มีความสิ้นเปลือง และเข้มงวดโดยไม่จำเป็น 

สำหรับสาเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่นพิษใน กทม.นั้น ดร.อานนท์ อธิบายว่า เกิดจาก ปัจจัย 2 ส่วนคือ สภาพอากาศ และ แหล่งกำเนิดฝุ่น โดยลักษณะภูมิอากาศของ กทม. ที่มีภาวะการเคลื่อนที่ขึ้น-ลงของอากาศเย็นที่ทับอยู่ข้างบนนั้น ไม่ได้สะท้อนว่าต้นกำเนิดฝุ่นมันเพิ่มขึ้นหรือลดลง 

เพราะต้นกำเนิดฝุ่นก็ยังมีเท่าเดิม แต่ปัจจัยทางฟิสิกส์เป็นตัวกำหนด โดยอากาศที่กดลงมามาก ทำให้อากาศในชั้นที่ผู้คนอยู่อาศัยมีปริมาตรที่น้อยลง ความเข้มข้นของละอองจึงมากขึ้น วันไหนที่อากาศเย็นด้านบนไม่กดลงมามาก ชั้นอากาศอุ่นจากพื้นขึ้นมานั้น ก็ลอยตัวได้สูงขึ้น มีปริมาตรมากขึ้น ฝุ่นก็ถูกเจือจางไป 

เรื่องนี้ เป็นเรื่องของธรรมชาติล้วนๆที่ไม่สามารถไปควบคุมได้ แต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งในปัจจุบันยังมีความเข้าใจที่สับสนอยู่ว่า อากาศเย็นที่ว่านั้นมาจากภาคเหนือและนำฝุ่นมาด้วยซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะฉะนั้นหากยังเข้าใจไม่ถูกต้อง ก็จะนำมาสู่การรับมือที่ไม่ตรงประเด็น

ปัญหาฝุ่นละอองใน กทม. มักเป็นละอองในกลุ่มไนเตรท ,ซัลเฟต ขณะที่ถูกเผาไม้ออกมา จากการสันดาปภายในที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล ที่ยังมีค่ายูโรที่ต่ำ โดยทั่วไปมีค่าอยู่ที่ ยูโร2 – 3 ซึ่งในปัจจุบันควรจะอยู่ที่ยูโร 5 แต่เนื่องจากผู้ผลิตเครื่องจักรเครื่องยนต์ ยังไม่มีความพร้อม ซึ่งเกินอำนาจของ ผู้ว่า กทม.ฯ ยกตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาเรื่องมาตรฐานเครื่องยนต์ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น

ในมุมผู้ว่าฯกทม. การแก้ปัญหาฝุ่นแบบเฉพาะหน้า ก็มีความจำเป็นต้องทำต่อไป แต่ต้องมีการสนับสนุนการศึกษาให้เกิดความรู้ในเรื่องฝุ่นละอองอย่างจริงจังต่อเนื่อง อย่างน้อยในเวลาที่เหลืออีกประมาณ 2 ปีกว่านี้เพียงพอเพื่อทำงานวิจัยได้ แต่แนะนำให้ดำเนินการอย่างเงียบๆแต่จริงจัง 

โดยงานวิจัยเป็นรูปแบบ Top Down ระบุหัวข้อให้ชัดเจน แล้วเปิดให้หน่วยงานเข้ามาประมูล คาดว่าใช้งบประมาณในหลักร้อยล้านต่อปี แต่ถือว่าคุ้มค่า หากเทียบกับค่ารักษาพยาบาล หลักพันล้านต่อปี

เพราะละอองที่เกิดจากเครื่องยนต์ จะมีลักษณะเป็นแก๊ส แล้วกลั่นตัวเป็นหยาดกรดเล็กๆ ลอยอยู่ในอากาศ สร้างความระคายเคืองทั้งในระดับกายภาพ  และสะสมในกระแสเลือด ในระบบน้ำเหลืองได้ เนื่องจากสามารถซึมเข้าไปตามผนังหลอดเลือด และถุงลมปอดได้ ทางการแพทย์จึงสามารถนำรายละเอียดจากการศึกษาวิจัยมาวางแผนด้านสุขภาพ เพื่อป้องกัน และการรักษาโรคที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวได้อีกด้วย