กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ประกาศแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2566 เพื่อรับมือภัยแล้ง หมอกควัน PM2.5 และพายุลูกเห็บทั่วประเทศ โดยปฏิบัติการดังกล่าวได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ซึ่งภารกิจที่วางไว้จะถูกขับเคลื่อนผ่านศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 7 ศูนย์ โดยมีอากาศยานรวมทั้งหมด 30 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 24 ลำ อากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 6 ลำ
1.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน
2.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง
3. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง
4. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
5. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
6. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก
7. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่าในปี 2566 มีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ป้องกันการเกิดพายุลูกเห็บ สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐานซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป รวมถึงการเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ
"แผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของสภาพอากาศและความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อให้เหมาะสมในการปฏิบัติการช่วยเหลือให้ตรงตามเป้าหมาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนต่อไป"