ค่าฝุ่น PM 2.5 กลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง โดยในช่วงเช้า 3 กุมภาพันธ์ 2566 ปรากฏว่า 2 เมืองใหญ่ในประเทศไทย มีค่าคุณภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ติดอันดับโลก
เว็บไซต์ IQ Air เว็บไซต์ตรวจวัด และจัดอันดับคุณภาพอากาศ และการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษ ด้วยค่าฝุ่น PM 2.5 จาก 99 เมืองทั่วโลก รายงานผลคุณภาพอากาศ ในเวลา 7.19 น. พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในอันดับที่ 12 จัดเป็นกลุ่มสีแดงด้วยค่าเฉลี่ย 160 หมายถึงสภาพอากาศไม่ดีและมีผลกระทบต่อสุขภาพต่อทุกคน และ จังหวัดกรุงเทพมหานคร อยู่ในอันดับที่ 22 จัดเป็นกลุ่มสีแดงด้วยค่าเฉลี่ย 108 หมายถึงสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อผู้ป่วยหรือร่างกายอ่อนแอ
ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผย ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ว่า รายงานในวารสารของสมาคมโรคหัวใจ รายงานถึงผลกระทบต่อร่างกาย ฝุ่น PM 2.5 ที่ระดับ 33.3 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร และ ฝุ่น PM 10 ระดับ 57.3 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร และความเข้มข้นของไนโตรเจนไดออกไซด์ ทำให้มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงขึ้น
การศึกษาในประเทศจีน ในช่วงปี 2013 – 2018 สะท้อนให้เห็นว่า ผลกระทบจากฝุ่นพิษ ไม่ได้มีต่อระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่มีผลต่อหัวใจในลักษณะเฉียบพลันด้วย ซึ่งฝุ่น PM 2.5 และฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคทางหัวใจและเส้นเลือด มากกว่า 50% แม้ว่าระดับฝุ่นพิษ จะต่ำกว่าระดับมาตรฐาน ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด หรือตามมาตรฐานของประเทศต่างๆก็ตาม
และยังมีผลการศึกษา จากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ด้วยว่า ปริมาณฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะเพิ่มความเสี่ยงของ 4.14% และสำหรับไนโตรเจนไดออกไซด์เพิ่มความเสี่ยงในลักษณะเดียวกัน โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นอีก 1.3%
จากการที่ไนโตรเจนไดออกไซด์ มีส่วนในการตาย ทำให้มีการเพ่งเล็งถึงมลพิษที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ของรถเป็นพิเศษ โดยกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป พบว่า มีอัตรการเสียชีวิตมากกว่าคนหนุ่มสาว