ไวรัสควิด19 ส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้ติดเชื้อหลายรูปแบบ แม้จะหายป่วยจากไปแล้วก็ตาม
ล่าสุดรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ
อายุขัยเฉลี่ยของประชากรในอเมริกา
ล่าสุดทาง Wall Street Journal ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับอายุขัยเฉลี่ยของประชากรในอเมริกา
สาระสำคัญคือ อายุขัยของประชากรในปี 2021 นั้นลดลงไปกว่า 2020 ถึงราว 20%
นอกจากนี้อายุขัยเฉลี่ยนั้นอยู่ในระดับน้อยที่สุดในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา)
สาเหตุหลักที่ทำให้เสียชีวิตได้แก่ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โดยโรคโควิด-19 สูงเป็นอันดับ 3
โควิด-19 ทำให้มีอัตราเสียชีวิตต่อประชากรแสนคน มากกว่าโรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บ เบาหวาน โรคปอด และโรคไต
BF.7 ระบาดในอินเดีย
หากจำกันได้ เราทราบกันชัดเจนว่าการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีนที่กำลังหนักหน่วงอยู่นั้นเกิดจากไวรัส Omicron สายพันธุ์ย่อย BF.7
ล่าสุด BF.7 ได้ระบาดในอินเดียแล้วเช่นกัน ทำให้มีการติดเชื้อมากขึ้น
หากดูจากเรื่องสมรรถนะของไวรัส จะพบว่าดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า BA.4/BA.5 อยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก
ในขณะที่สายพันธุ์ย่อย BQ.1.x ที่ระบาดมากในยุโรปและอเมริกา และ XBB ในเอเชียนั้นจะดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า จึงต้องระมัดระวังให้ดี
สำหรับไทยเรานั้น
การระบาดในแต่ละวันยังมีจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ
เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ระวังการพบปะคลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่นเป็นเวลานาน
เลือกสถานที่ดื่มกิน ที่พนักงานบริการมีการป้องกันตัว
ควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด ลดเสี่ยงป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID
สำคัญที่สุดคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด