โควิด19 ยังคงพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกลายพันธุ์ออกไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)
ล่าสุด ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า
งานวิจัยชิ้นนี้ออกมาตรงกับสถานการณ์ในไทยครับ เพราะกำลังสงสัยว่าทำไม BA.2.75 เป็นสายพันธุ์หลักเข้ามาแทนที่ BA.5 ได้
ทั้งๆที่ผลการทดสอบในหลายห้องปฏิบัติการว่าไวรัสสายพันธุ์นี้ไม่ได้มีคุณสมบัติหนีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน
หรือภูมิจากธรรมชาติที่โดดเด่นเหมือนสายพันธุ์อื่นๆ
ผลการศึกษาในงานวิจัยนี้พบว่า BA.2.75 โดดเด่นเรื่องความสามารถในการจับกับโปรตีนตัวรับ ACE2 บนผิวเซลล์ได้ดีกว่า BA.2 เดิมถึง 9 เท่า
ซึ่งอธิบายได้ว่า หนีภูมิอาจไม่ต้องเก่งมากแต่จับกับเซลล์ได้ดีก็สามารถกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักได้
การใช้ความสามารถในการหนีภูมิอย่างเดียวอาจจะไม่พอในการทำนายทิศทางของไวรัสในการปรับตัวเอง
ไวรัสที่จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในธรรมชาติจึงพยายามสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการจับกับโปรตีนตัวรับและความสามารถในการหนีภูมิให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ
ตัวไหนไปอยู่ตำแหน่งที่ลงตัวน่าจะเป็นตัวที่เหมาะสมที่สุดในธรรมชาติ
ถ้าดูตามกราฟที่เทียบทั้งการหนีภูมิ และ ความสามารถในการจับกับโปรตีน ACE2 แล้ว
ตัวที่น่าจับตามองที่สุดตอนนี้คือ กลุ่ม BN.1 เพราะจับกับ ACE2 ได้ระดับเดียวกับ BA.2.75
แต่หนีภูมิเก่งกว่าอย่างมีนัยสำคัญ