เปิดข้อมูล 6 เดือนหลัง "ปลดล็อกกัญชา"จากยาเสพติด ยังน่าห่วง

30 ต.ค. 2565 | 19:18 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2565 | 02:28 น.

เช็คสถานการณ์ 6 เดือนหลัง "ปลดกัญชา"จากยาเสพติด ยังน่าห่วง ร่างกฎหมายแม่ส่อออกไม่ทันรัฐบาลนี้ ทำสังคมสุญญากาศ ด้านเกษตรหลงปลูกไร้องค์ความรู้ ผลผลิตไม่ได้เกรด หวั่นทะลักเข้าตลาดมืดถึงมือเยาวชนง่าย นำสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นได้

ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) จัดเสวนา “เช็คสถานการณ์ 6 เดือนผ่านไปในวันที่มีกัญชารอบบ้าน” เมื่อเร็วๆนี้ โดย รศ.พญ.รัศมน  กัลยาศิริ  ผู้อำนวยการศศก. กล่าวว่า หลังปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดมีผลเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565

เปิดข้อมูล 6 เดือนหลัง \"ปลดล็อกกัญชา\"จากยาเสพติด ยังน่าห่วง

ตอนนี้ผ่านมาเกือบ 6 เดือน เท่าที่เห็น บางครอบครัวสามารถป้องกันดี ไม่ให้มีการใช้กัญชาสันทนาการเข้ามาในบ้านได้ แต่ภายนอกบ้านยังสามารถพบได้ทั่วไป ทั้งร้านสะดวกซื้อ และการโฆษณาทางทีวี ตอกย้ำความคิดว่ากัญชาปลอดภัยใช้ได้ ขณะเดียวกันก็ยังเห็นผลกระทบจากการได้รับกัญชาทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ดังนั้นต้องติดตามผลกระทบต่อเนื่อง แสดงข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา เพื่อนำไปสู่การวางมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ค้านใช้การแพทย์ แต่การใช้ทั่วไปแบบนันทนาการ หรือสันทนาการเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องอยู่ในระบบที่ดี

เปิดข้อมูล 6 เดือนหลัง \"ปลดล็อกกัญชา\"จากยาเสพติด ยังน่าห่วง

เพราะที่ผ่านมามีรายงานพบว่า ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี สูบกัญชามากขึ้น 2 เท่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนก็ช่วยกันออกกฎหมาย ประกาศต่างๆ เพื่อควบคุมระหว่างรอร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ....ที่สมบูรณ์รัดกุมในอนาคต

 

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ที่ผ่านมามีปัญหาเฉพาะหน้ามากมาย ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องมีกฎหมายหรือประกาศออกมาหลายฉบับ ทั้งการใช้ปรุงอาหาร  ห้ามใช้ในเด็กต่ำกว่า 20 ปี กลุ่มเปราะบาง 

แต่ที่ตนห่วงคือกรณีอบรมผู้ประกอบการ และมีหลักสูตรการสอนในโรงเรียนให้เห็นถึงคุณประโยชน์ คุณค่า การใช้อย่างถูกวิธี เหมือนดาบ 2 คม ทำให้ชินในการใช้กัญชาปรุงอาหาร และเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งผู้ประกอบการพยายามให้โรงเรียนมีหลักสูตรสอนการดื่มที่ถูกต้อง แต่ในเชิงลึกเป็นการชี้นำให้ใช้ได้ 

 

ยิ่งวันนี้กัญชาที่ถูกผลักดันหรือถูกกำหนดทิศทางโดยฝ่ายการเมือง อย่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ดันจนถูกกฎหมายและมีแนวโน้มถึงการใช้กัญชาสร้างการท่องเที่ยว ให้นันทนาการมากขึ้น แต่กระแสสังคมเริ่มกังวล เพราะเห็นผลกระทบตามมา 

เปิดข้อมูล 6 เดือนหลัง \"ปลดล็อกกัญชา\"จากยาเสพติด ยังน่าห่วง

และพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลว่าไม่ยอมรับกัญชาเสรีใช้นันทนาการ ดังนั้นต้องระวัง เพราะจากข้อมูลแม้ว่าผลกระทบจากการใช้กัญชาทางร่างกายไม่มาก แต่มีข้อมูลผู้เข้ารับการบำบัดทางจิตจากกัญชาสัดส่วนปี2561อยู่ที่3% ปี 2562 อยู่ที่14% ปี 2563 อยู่ที่ 8% ปี 2564 อยู่ที่14% ส่วนปี 2565 เกือบ17% จะเห็นว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และน่าจะเป็นเทรนด์ที่ต้องเฝ้าระวัง

 

นางพัชรินทร์ ขันคำ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า หลังปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดพบว่า มีการขายเมล็ดกัญชา กัญชงทางอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 

 

ทั้งนี้จากการติดตามปลูกพืชกัญชงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เน้นเพื่อเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากยังขาดองค์ความรู้ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ที่สำเร็จพบว่า เป็นการปลูกภายใต้ระบบการควบคุมเพื่อการศึกษาวิจัย ส่วนการปลูกกัญชาพบว่า มากกว่า 90 -95% ไม่ประสบความสำเร็จ มีปัญหาโรคพืช และแมลง 

 

เพราะขาดองค์ความรู้ในการปลูกที่มีคุณภาพ ทั้งที่ใช้เงินทุนสูง ผลผลิตไม่ได้เกรดที่สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้ ขายไม่ได้ จึงเป็นที่น่ากังวลว่าผลผลิตเหล่านี้จะหลุดเข้าไปในตลาดมืด ที่น่าห่วงคือการใช้ในเยาวชนที่อาจจะนำไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ ตามมาได้ ดังนั้นตนมองว่าควรมีการควบคุมการปลูก มีกลไกดูแลระดับพื้นที่อย่างทั่วถึง

เปิดข้อมูล 6 เดือนหลัง \"ปลดล็อกกัญชา\"จากยาเสพติด ยังน่าห่วง

ขณะที่ นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ที่มีการระบุว่าการปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติดของไทย ไม่ผิดอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด 1961 นั้นเป็นการให้ข้อมูลที่ผิด เพราะในอนุสัญญายังถือว่าเป็นยาเสพติด ที่ยังไม่มีประเทศใด นอกจากไทยที่ปลดออกจากยาเสพติด 

 

ทั้งนี้จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่าหลายประเทศที่อนุญาตให้ใช้เพื่อนันทนาการกว่า40% มีการใช้ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะแถบอเมริกาเหนือ และแอฟริกาบางประเทศ เกิดปัญหาอาชญากรรม ปล้น คดีทางเพศ นำไปมอมผู้หญิง เกิดปัญหาสาธารณสุข ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย อุบัติเหตุทางถนน

 

ขณะที่ปัญหากัญชาใต้ดินก็ยังมีอยู่ ข้อเสนอของยูเอ็นคือควรส่งเสริมให้ประชาชนทำอาชีพอื่น พร้อมยกโครงการพระราชดำริยกเลิกการปลูกฝิ่นของไทยเป็นแบบ ขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมการปลูกกัญชามากขึ้น  

เปิดข้อมูล 6 เดือนหลัง \"ปลดล็อกกัญชา\"จากยาเสพติด ยังน่าห่วง

ขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ที่เสนอโดยพรรค ภท.นั้นมีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยเพราะมีเนื้อหาที่ต้องมีการตีความให้เกิดการใช้กัญชาเสรี เช่น การกำหนดพื้นที่ห้ามขาย ห้ามสูบ ซึ่งไม่มีใครเขียนแบบนี้ เพราะเท่ากับว่าสถานที่ที่นอกเหนือจากนั้นถือว่าทำได้ 

 

การระบุว่าห้ามสูบที่สาธารณะ แปลว่าสูบในบ้านได้ แล้วเกิดกลิ่นควันไปกระทบเพื่อนบ้าน และกฎระเบียบต่างๆ ที่ออกมากำกับก็ไม่สามารถใช้ได้จริง เช่น พ.ร.บ.การสาธารณสุข เรื่องกลิ่นและควันเห็นเหตุรำคาญก็ต้องมีเงื่อนไขว่าต้องมีการร้องเรียน เป็นต้น

 

ทั้งนี้ เมื่อย้อนไป ตอนยกร่างฯ ก็ไม่มีการประชาพิจารณ์อย่างแพร่หลาย แต่ทำผ่านเว็บฯ มีผู้แสดงความเห็น 97 คน แล้วทำสรุป 

 

ที่สำคัญคือกระทรวงสาธารณสุขไม่เสนอร่างฯ ประกบ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานรัฐไม่ควรละเลย ถือว่ากระทรวงเกียร์ว่าง ซึ่งอาจเพราะรัฐมนตรีอยู่ในพรรคเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หลังร่างฯ ถูกตีกลับมาปรับปรุงเสนอเข้าสภาใหม่นั้น ไม่น่าทันรัฐบาลชุดนี้ เพราะยังต้องผ่านวุฒิสภาอีก ท่ามกลางภาวะสุญญากาศไม่มีกฎหมายควบคุม 

เปิดข้อมูล 6 เดือนหลัง \"ปลดล็อกกัญชา\"จากยาเสพติด ยังน่าห่วง

ดังนั้นภาครัฐต้องมีบทบาทมากกว่านี้ ป.ป.ส.ไม่ควรละเลย เพราะดูแลเกี่ยวกับยาเสพติดโดยเฉพาะ การอ้างว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแล้วจะไม่ทำอะไรเลยก็คงไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่เห็นชอบให้ปลดล็อคตอนแรกอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ด้าน พญ.จริยา ภูดิศชินภัทร ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นำเสนอกรณีตัวอย่างชายวัยกลางคน 3 รายซื้อคุกกี้ผสมกัญชา แบ่งกันกินแล้วเกิดอาการเมา เคลื่อนไหวช้า ภาพตัดเป็นพักๆ จนต้องมาโรงพยาบาล พัก 4 ชั่วโมงอาการจึงค่อยดีขึ้น เมื่อตรวจคุกกี้ที่เหลือก็พบ THC 0.019 % ไม่เกินที่กฎหมายกำหนดในการเป็นยาเสพติด แต่กลับมีผลกระทบได้ 

 

อีกเคสเป็นชายวัย 30 ปี มา รพ.ด้วยอาการซีกซ้ายอ่อนแรง 30 นาที หลังสูบกัญชาบ้อง และมีอาการปวดศีรษะ ไม่มีตาเบลอ หรือผิดปกติอื่นๆ ตรวจร่างกายและ MRI สมอง ผลเป็นปกติ รักษาเหมือนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจนหายแล้ว คนไข้ให้ข้อมูลว่าสูบกัญชา 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่อเนื่อง 2 ปี คาดว่าอาการดังกล่าวน่าจะเกิดจากกัญชา 

 

สอดคล้องกับรายงานในต่างประเทศ ที่พบคนสูบกัญชามานานจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองหดเกร็งเฉียบพลัน ภาพถ่ายรังสีหลอดเลือดสมองพบบางจุดตีบชัดเจน ทั้งนี้คนอายุน้อย ถ้าหดแล้วคลายตัวทันทีเนื้อสมองจะไม่ตาย แต่ถ้าคนมีปัญหาหลอดเลือดตีบ เบาหวาน ความดัน หลอดเลือดตีบชั่วคราวก็จะทำให้สมองขาดเลือดเฉียบพลัน หรือมีเลือดออกสมองได้

 

และกรณีเช่นนี้อาจเกิดกับผู้ป่วยใช้สาร หรือสารเสพติดอื่นๆ ได้ แต่กัญชาก็พบได้ ราว20% นอกจากนี้สารกัญชายังมีทั้งฤทธิ์กดสมอง และกระตุ้นสมองระยะสั้น และผลระยะยาว เช่น จิตเวช ซึมเศร้า อีคิวลด กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมหดเกร็ง เป็นต้น