พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.จะเริ่มเปิดให้ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองในพื้นที่ กทม. จำนวน 2.3 แสนรายที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาระหว่าง สปสช.กับโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่งเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำแห่งใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป
ประชาชนสามารถทยอยเลือกหน่วยบริการได้ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย
1. แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ
2. ไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso เลือกเมนู เปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง
3. สายด่วน สปสช. โทร. 1330
นอกจากนี้ หากผู้ใช้สิทธิ์ไม่สะดวกลงทะเบียนผ่านช่องทางข้างต้น สามารถมาลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเองได้ที่ที่ทำการของ สปสช. ชั้น 2 อาคารบี ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. โดยผู้ใช้สิทธิ์สามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการใกล้บ้านได้ที่เว็บไซต์ สปสช. (คลิกที่นี่)
พญ.ลลิตยา กล่าวอีกว่า ประชาชนผู้ใช้สิทธิ์สามารถใช้เวลาตรวจสอบและเลือกเฟ้นหาหน่วยบริการที่ถูกใจได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องรีบร้อนลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ เพราะ สปสช. ได้เตรียมหน่วยบริการปฐมภูมิใน กทม. ไว้อย่างเพียงพอมากกว่า 700 แห่ง และผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองที่เคยลงทะเบียนหน่วยบริการประจำกับโรงพยาบาลเอกชนที่ถูกยกเลิกสัญญาไปนั้นมี 7 แห่งที่เป็นหน่วยบริการระดับปฐมภูมิและประจำได้แก่ รพ.ประชาพัฒน์, รพ.นวมินทร์, รพ.เพชรเวช, รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2, รพ.แพทย์ปัญญา, รพ.บางมด และ รพ.กล้วยน้ำไท
ทั้งนี้หลังจากถูกยกเลิกสัญญา ประชาชนกลุ่มนี้จะมีสถานะเป็น “สิทธิว่าง” กล่าวคือเป็นสิทธิ VIP ที่ระหว่างนี้หากเจ็บป่วยสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายของ สปสช. ที่ไหนก็ได้ ทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือสถานพยาบาลอื่นๆ ในระบบ เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาล ร้านยา ฯลฯ โดยตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลในเครือข่ายได้ที่ https://map.nostramap.com/NostraMap/ หรือแอปพลิเคชัน NOSTRA Map โดยกดเข้าไปดูชั้นข้อมูลที่ระบุว่า สถานพยาบาลในระบบ สปสช. ซึ่งหากผู้ใช้สิทธิได้ไปรับบริการแล้วเกิดความประทับใจถึงค่อยลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำก็ได้
“หรือหากท่านสุขภาพยังแข็งแรงดี ไม่เคยเจ็บป่วยแต่อยากลงทะเบียนหน่วยบริการประจำเตรียมพร้อมไว้ ขอแนะนำให้ท่านเลือกลงทะเบียนที่หน่วยบริการใกล้บ้านก่อนเพื่อความสะดวกในการไปรับบริการ แต่หากท่านไปรับบริการแล้วไม่ประทับใจหรืออยากเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ท่านสามารถเปลี่ยนได้ในภายหลัง โดย สปสช. เปิดให้ท่านย้ายหน่วยบริการประจำได้ตลอดเวลา เป็นจำนวน 4 ครั้ง/ปี”พญ.ลลิตยา กล่าว
อนึ่ง ในส่วนของผู้ใช้สิทธิ์ที่เดิมมี 9 โรงพยาบาลเอกชนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อนั้น ทาง สปสช. ได้หารือกับกรุงเทพมหานครและกรมการแพทย์ ได้ข้อสรุปว่าในช่วงระยะเวลา 3 เดือนต่อจากนี้ จะจัดหาหน่วยบริการหรือ รพ.รับส่งต่อให้เป็นการชั่วคราว เมื่อได้หน่วยบริการรับส่งต่อแห่งใหม่แล้วจะแจ้งให้ผู้มีสิทธิ์ทราบอีกครั้ง ทั้งนี้หน่วยบริการรับส่งต่อชั่วคราวในขณะนี้ มีดังนี้
ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เคยมี รพ.มเหสักข์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เลิดสินและ รพ.ตากสินแทน, ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เคยมี รพ.กล้วยน้ำไท เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เจริญกรุงประชารักษ์แทน, ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เคยมี รพ.บางนา 1 เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เดอะซีพลัสแทน, ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เคยมี รพ.นวมินทร์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.นพรัตน์ราชธานีแทน
ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.เพชรเวช เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.คลองตันและ รพ.กลางแทน, ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เคยมี รพ.ประชาพัฒน์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.ไอเอ็มเอช ธนบุรี แทน, ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เคยมี รพ.แพทย์ปัญญา เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.สิรินธร รพ.ราชวิถี รพ.กลาง และ รพ.เดอะซีพลัส แทน, ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เคยมี รพ.บางมด เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.ราชพิพัฒน์แทน
ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวจาก 9 โรงพยาบาลเอกชนนี้ไปรับการรักษาในโรงพยาบาลอื่นที่มีศักยภาพสูงกว่า ยังคงไปรับการรักษาได้ตามปกติโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแต่อย่างใด