29 กันยายน วันหัวใจโลก World Heart Day สิทธิประโยชน์บัตรทองครอบคลุมโรคหัวใจ

29 ก.ย. 2565 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2565 | 21:34 น.

29 กันยายนของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก(World Heart Day) รู้หรือไม่ สิทธิประโยชน์บัตรทองครอบคลุมโรคหัวใจ ดูรายละเอียดเลย

เฟซบุ๊กสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โพสต์ข้อความหัวข้อ 29 กันยายน วันหัวใจโลก World Heart Day สิทธิประโยชน์บัตรทองครอบคลุมโรคหัวใจ โดยมีเนื้อหาว่า

 

สปสช.ได้กำหนดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคลิ้นหัวใจรั่ว รวมไปถึงผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา และลดภาระค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นยังมี “บริการคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด” สำหรับประชาชนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไป ทุกสิทธิการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย


 

 

29 กันยายน วันหัวใจโลก World Heart Day สิทธิประโยชน์บัตรทองครอบคลุมโรคหัวใจ

 

สปสช.ร่วมรณรงค์เนื่องในวันหัวใจโลก วันที่ 29 กันยายน ทุกปี เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มวัย สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจตีบตัน ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากการสะสมของไขมัน โปรตีน ที่บริเวณผนังด้านในของหลอดเลือด

 

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ คือ อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ภาวะอ้วน โดยโรคนี้มักเป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง

 

 

 

 

“กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดย สปสช.ได้กำหนดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมโรคต่างๆ รวมถึงโรคค่าใช้จ่ายสูง อย่าง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (STEMI) โรคลิ้นหัวใจรั่วรวมไปถึงผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา และลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาตามสิทธิได้ตามการวินิจฉัยของแพทย์

 

 

ไม่เพียงแต่การรักษาพยาบาลโรคหัวใจ สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น ยังครอบคลุมสิทธิประโยชน์บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับประชาชนทุกคนทุกสิทธิการรักษาที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ให้ได้รับการคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมไปถึงการให้คำปรึกษาเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมถึงการพิจารณาให้ยาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

 

ที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ