รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ
อัพเดตความรู้โควิด-19
ทีมวิจัยจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมัน เผยแพร่ผลการศึกษากลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยมีอาการน้อยมาก่อน จำนวน 346 คน
โดยทำการประเมินอาการต่างๆ พร้อมทั้งตรวจเลือด และทำเอ็มอาร์ไอหัวใจ หลังจากการติดเชื้ออย่างน้อย 4 สัปดาห์ และตรวจซ้ำหลังจากนั้นอย่างน้อย 4 เดือน
พบว่า 73% ของกลุ่มผู้ป่วยที่ตรวจนั้นมีอาการผิดปกติทางด้านหัวใจ โดยที่ 57% ยังคงมีอาการอย่างต่อเนื่องในการตรวจครั้งที่สอง
(ข้อควรระวัง: อย่างไรก็ตาม เปอร์เซ็นต์ความชุกของอาการผิดปกตินี้อาจเกิดจากลักษณะการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการ จึงอาจไม่สามารถบ่งบอกถึงความชุกจริงที่เกิดขึ้นสำหรับผู้ติดเชื้อแบบอาการน้อยได้)
สิ่งสำคัญที่พบในงานวิจัยนี้คือ ผลการตรวจ MRI ที่ชี้ให้เห็นว่ามีการอักเสบของบริเวณหัวใจ แม้จะตรวจหลังจากการติดเชื้อมาหลายเดือน
สอดคล้องกับงานวิจัยต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าการติดเชื้อนั้นไม่ได้จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ยังมีโอกาสเกิดผลกระทบตามมา เช่น กระบวนการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ได้ด้วย
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ประเมินสถิติการติดเชื้อ เราจะพบว่า ปีแรกติดเชื้อราว 7,000 --> ปีสองราว 2.7 ล้าน --> จนมาถึงปีนี้ 10 ล้านหรือมากกว่านั้น
ในขณะที่การเสียชีวิตนั้น นอกจากกว่าสามหมื่นคนที่เสียชีวิตไปตลอดช่วงที่ผ่านมาแล้ว ยังมีสถิติจำนวนเสียชีวิตส่วนเกินจากทุกสาเหตุ ราว 120,000 คน
ซึ่งในจำนวนนี้ย่อมมีคนที่ติดเชื้อแต่มีโรคประจำตัวต่างๆ อีกจำนวนไม่น้อย และการติดเชื้อโควิด-19 อาจมีส่วนทำให้โรคแย่ลงและนำไปสู่การเสียชีวิตดังที่เราทราบจากข้อมูลรายงานของสิงคโปร์
ดังนั้นจึงควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท เพื่อที่จะได้ทำมาหากิน ศึกษาเล่าเรียน และใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยไปด้วยกัน