9 รพ.ยกเลิกบัตรทอง สปสช.อุ้มผู้ป่วย7 แสนคนรักษาตามสิทธิได้เหมือนเดิม

19 ก.ย. 2565 | 20:22 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2565 | 06:44 น.
6.8 k

9 โรงพยาบาลเอกชน ยกเลิกสัญญาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ สปสช.ยืนยันไม่ลอยแพ ผู้ป่วยเกือบ 7 แสนคนย้ำยังรักษาได้ตามสิทธิเหมือนเดิม

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยืนยัน สปสช.ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่กับ 9 โรงพยาบาล (รพ.) และพร้อมรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ หลังได้ยกเลิกสัญญาบริการสาธารณสุข รพ.เอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท 9 แห่ง ได้แก่

  • รพ.มเหสักข์
  • รพ.บางนา 1
  • รพ.ประชาพัฒน์
  • รพ.นวมินทร์
  • รพ.เพชรเวช
  • รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2
  • รพ.แพทย์ปัญญา
  • รพ.บางมด
  • รพ.กล้วยน้ำไท

 

โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป หลังตรวจพบการเบิกจ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขไม่ถูกต้อง 

ทั้งนี้ สปสช.ยืนยันว่า ผู้ป่วยในที่ยังนอนรักษาตัวอยู่ใน รพ. 9 แห่ง หากยังไม่ได้ออกจาก รพ. หลังวันที่ 30 ก.ย. 2565 ยังคงนอนรักษาตัวต่อไปได้ จนกว่าจะหายป่วย โดย สปสช.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

 

ส่วนผู้ป่วยนัดรักษา 5 กลุ่ม ได้แก่ สตรีใกล้คลอด, ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัดและรังสีรักษา, ผู้ป่วยมีนัด ทำอัลตราซาวด์, ทำซีทีสแกน และทำ MRI ยังคงรักษาตัวตามนัดต่อไปได้

ผู้ป่วยของทั้ง 9 รพ.ที่ได้รับใบส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.แห่งอื่น ยังคงได้รับสิทธิส่งตัวไปรักษาตามปกติ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่นัดติดตามอาการให้ไปรับการรักษาตัวต่อที่ คลินิกเวชกรรม คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา ฯลฯ พร้อมจัดระบบบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่เพิ่มเติมเพื่อให้บริการ ได้แก่ ระบบบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ใดก็ได้

ผู้ป่วยเอชไอวี และวัณโรค ให้ไปรับการรักษาตัวต่อได้ในคลินิกเวชกรรม คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา ฯลฯ

 

ส่วนผู้ป่วยที่ต้องรับการฟอกไต หรือมีนัดผ่าตัดหัวใจ ทำบอลลูนหัวใจ หรือใส่สายสวนหัวใจ ยังคงรับการรักษาที่ 9 รพ.เดิมได้ตามปกติ สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นผู้ป่วย แต่ได้สิทธิรับรักษาใน รพ. 9 แห่ง สามารถเลือกหน่วยบริการใหม่ได้ โดยเข้าไปลงทะเบียนในเวปไซต์ สปสช.

 

ทั้งนี้ รพ. 9 แห่ง มีสิทธิบัตรทองจำนวน 696,103 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 62,331 คน (ร้อยละ 9) ที่ใช้สิทธิรับบริการ และเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวน 24,058 คน