ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ แนะ ฉีดวัคซีนโควิด เด็ก 6 เดือน-5 ปี เน้น 8 กลุ่มเสี่ยง 

14 ก.ย. 2565 | 18:10 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2565 | 01:17 น.

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ แนะ ฉีดวัคซีนโควิด เพิ่มกลุ่มเด็ก 6 เดือน – 5 ปี เน้น 8 กลุ่มเสี่ยง ต่ำกว่า 2 ขวบฉีดกล้ามเนื้อหน้าขา เผย ฉีดร่วมวัคซีนอื่นได้ในวันเดียวกัน

14 กันยายน 65 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่คำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 สำหรับเด็กและวัยรุ่น ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2565 โดยระบุว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ได้ทบทวนข้อมูลด้านระบาดวิทยา ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวัคซีนโควิด 19 ในเด็กและวัยรุ่น รวมทั้งข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น จึงมีคำแนะนำใหม่เพิ่มจากฉบับที่ 6 คือ

 

อายุ 5-12 ปี ที่ฉีดไฟเซอร์ฝาส้ม ขนาด 10 ไมโครกรัม 2 เข็ม ควรฉีดเข็มกระตุ้นเว้นระยะห่าง 3-6 เดือน

 

สำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำระดับปานกลางถึงรุนแรง ควรฉีดฝาส้มขนาด 10 ไมโครกรัม อีกเข็มเว้นระยะห่างอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ รวมเป็นฉีดปฐมภูมิ 3 เข็ม และกระตุ้นอีกเข็มเว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 เดือน

หากเด็กและวัยรุ่นมีการเปลี่ยนกลุ่มอายุระหว่างฉีดวัคซีน ควรได้รับชนิดและขนาดของวัคซีนที่เหมาะสมกับอายุ ณ วันที่ฉีดเด็กและวัยรุ่นที่เคยมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่สัมพันธ์กับการฉีดวัคซีนโควิด mRNA ให้เลื่อนการฉีดเข็มถัดไปจนกว่าจะมีข้อมูลความปลอดภัยเพิ่มเติม

 

กรณีที่เคยติดโควิดแนะให้ฉีดวัคซีนปฐมภูมิและเข็มกระตุ้นห่างอย่างน้อย 3 เดือน นับจากวันที่เริ่มมีอาการป่วย หรือหากไม่แสดงอาการนับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ สามารถฉีดวัคซีนโควิดร่วมกับวัคซีนอื่นได้โดยไม่มีข้อจำกัดเว้นระยะห่าง รวมถึงฉีดในวันเดียวกันกับวัคซีนตามวัยอื่นได้ โดยฉีดแขนหรือขาคนละข้าง หากฉีดข้างเดียวกันควรเว้นระระห่างอย่างน้อย 1 นิ้ว อายุน้อยกว่า 2 ปีแนะนำฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่หน้าขา

สำหรับ วัคซีนโควิด 19 mRNA Pfizer BioNTech ฝาสีแดงเข้ม เด็กอายุ 6 เดือน – น้อยกว่า 5 ปี ที่ได้รับอนุมัติโดย อย.ประเทศไทย แนะนำฉีดวัคซีนปฐมภูมิขนาด 3 ไมโครกรัม (0.2 มล.) 3 เข็ม โดยเข็ม 1 ห่างจากเข็ม 2 ระยะเวลา 4 สัปดาห์ (3-8 สัปดาห์) และเข็ม 3 ห่างจากเข็ม 2 ระยะเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ โดยแนะนำเป็นอย่างยิ่งในเด็กกลุ่มเสี่ยง ได้แก่

1.ทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี รวมถึงเด็กทารกคลอดก่อนกำหนด

2.โรคอ้วน (น้ำหนักเทียบกับความสูง (weight for height) มากกว่า +3 SD)

3.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง

4.โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง

5.โรคไตวายเรื้อรัง

6.โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

7.โรคเบาหวาน

8.กลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า

 

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า สามารถป้องกันการป่วยเป็นโรคโควิด 19 ที่มีอาการในเด็กอายุ 6 เดือน – <5 ปีที่ไม่เคยมีการติดเชื้อมาก่อนในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนเป็นหลักได้ 73.2% และจากการศึกษา Immunobridging พบว่า การฉีดวัคซีนขนาด 3 ไมโครกรัม 3 เข็มในเด็กอายุ 6 เดือน – <5 ปี ที่ไม่เคยมีหลักฐานของการติดเชื้อมาก่อน สามารถกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าในวัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุ 16 – 25 ปีที่ได้รับการฉีดวัคซีนขนาด 30 ไมโครกรัมสองเข็ม