พบอีก! ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายที่ 7 ประวัติสัมพันธ์ใกล้ชิดชายต่างชาติ

28 ส.ค. 2565 | 18:38 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2565 | 01:45 น.
869

สธ.พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงยืนยันรายที่ 7 ในไทย เป็นหญิงในวัย 30 ภูมิลำเนา กทม. เปิดไทม์ไลน์มีประวัติความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชายต่างชาติ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบ ผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร รายที่ 7 ของประเทศในวันนี้ (28 ส.ค.) เป็นเพศหญิง พบประวัติมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชายชาวต่างชาติ พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งค้นหาติดตามกลุ่มเสี่ยงต่อไป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

 

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสถาบันบำราศนราดูร ว่าพบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานรรายที่ 7 เป็นเพศหญิง อาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จึงมอบหมายให้ทีมปฏิบัติการสอบสวนโรค กองระบาดวิทยา ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยา สถาบันบำราศนราดูร ดำเนินการสอบสวนโรคในวันที่ 27 สิงหาคม 2565 เพื่อยืนยันการระบาดและสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรค พร้อมค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมและฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงแนะมาตรการสำหรับการป้องกันควบคุมโรคที่เหมาะสมให้กับผู้เสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ

 

จากการสอบถาม ประวัติของผู้ป่วย มีรายละเอียด ดังนี้  

  • เป็นเพศหญิงสัญชาติไทย อายุ 37 ปี
  • มีโรคประจำตัว
  • อาศัยอยู่บ้านคนเดียวที่กรุงเทพฯ
  • ไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ฟันแทะ
  • ไม่ได้ไปประเทศที่มีการระบาด
  • พบประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายต่างชาติผิวสีก่อนมีอาการป่วย

ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคและเวชระเบียนของสถาบันบำราศนราดูรพบว่า ในระยะ 3 สัปดาห์ก่อนป่วย ผู้ป่วยสตรีรายนี้ ไปเที่ยวย่านบันเทิงที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ 

ไทม์ไลน์ของอาการป่วย

  • วันที่ 20 ส.ค. 65 ผู้ป่วยเริ่มมีไข้ต่ำๆ 
  • วันที่ 21 ส.ค. 65 เริ่มมีตุ่มเหมือนหนองขนาดเล็กบริเวณทวารหนัก
  • วันที่ 22 ส.ค. 65 เริ่มมีตุ่มหนองลักษณะเดียวกันผุดมากขึ้นเริ่มจากนิ้วมือ แขน หลัง และลามไปที่ใบหน้ารวมถึงอวัยวะเพศ อาการเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจึงเข้ารับการรักษาในสถาบันบำราศนราดูร
  • วันที่ 26 ส.ค. 65 แพทย์ทำการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจากเลือด ตุ่มหนอง และลำคอ ด้วยวิธีการ Real-time polymerase chain reaction (Real-time PCR) ส่งตรวจไปยังกลุ่มงานเอชไอวีขั้นสูงและเชื้ออุบัติใหม่ สถาบันบำราศนราดูร และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลพบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสฝีดาษวานรในทุกสิ่งส่งตรวจ

 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยรายดังกล่าวมีประวัติไปเยี่ยมญาติสูงอายุ ทำให้มีผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 3 ราย จึงกำชับให้หน่วยงาน ในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ติดตามเฝ้าระวังอาการผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงทั้ง 3 รายอย่างใกล้ชิด ซึ่งวันที่สัมผัสผู้ป่วยวันสุดท้ายคือวันที่ 21 ส.ค. 65 และจะครบกำหนดระยะเฝ้าระวังในวันที่ 11 ก.ย. 65

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลกนั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ส.ค. 65) ผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 48,331 ราย พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 83 ประเทศ โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 17,432 ราย  สเปน 6,458 ราย  บราซิล 4,472 ราย  ฝรั่งเศส 3,421 ราย  เยอรมนี 3,405 ราย  และมีผู้เสียชีวิต 15 ราย

 

ข้อแนะนำเพื่อการป้องกันและห่างไกลโรค

นายแพทย์โอภาส กล่าวเน้นย้ำว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อง่ายหรือมีความรุนแรง ขอแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีไข้ ผื่น มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกาย และสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก 

 

หากผู้ที่มีอาการสงสัย เช่น มีผื่นตามลำตัว เป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด หลังจากมีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น สามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422