อัพเดท‘ฝีดาษลิง’ มีอาการเช่นไร ป้องกัน รักษาอย่างไร

26 ส.ค. 2565 | 11:36 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ส.ค. 2565 | 23:39 น.

ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงแล้ว 5 ราย และยังพบผู้ป่วยในหลายประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาการของโรคฝีดาษลิง มีอาการเช่นไร ป้องกัน รักษาอย่างไร อัพเดทได้ที่นี่

ปัจจุบันไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงแล้วจำนวน 5 ราย ขณะเดียวกันเรายังพบผู้ป่วยในหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย

 

อัพเดท‘ฝีดาษลิง’ มีอาการเช่นไร ป้องกัน รักษาอย่างไร

 

รศ.นพ.สุมนัส บุณยะรัตเวช กรรมการกลาง และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึง อาการของโรคฝีดาษลิง แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. ระยะฟักตัว เป็นระยะที่ไวรัสทำการฟักตัวในร่างกาย โดยไม่มีอาการ และไม่ติดต่อสู่ผู้อื่น โดยทั่วไปเป็นระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์แต่อาจยาวถึง  3 สัปดาห์ได้หลังสัมผัสเชื้อ

 

2. ระยะก่อนออกผื่น เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการไข้ เมื่อยตัว ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต โดยผู้ป่วยอาจสามารถแพร่เชื้อได้ทางละอองฝอยในระยะนี้

 

อัพเดท‘ฝีดาษลิง’ มีอาการเช่นไร ป้องกัน รักษาอย่างไร

 

3. ระยะออกผื่น หลังจากมีไข้ 1- 3 วันจะพบผื่นที่ใบหน้า ลำตัว และกระจายไปแขนขา โดยสามารถพบที่ฝ่ามือมือฝ่าเท้าได้ โดยผื่นจะมีลักษณะเป็นตุ่มขนาดเล็ก จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใสและแตกออก จนตกสะเก็ดและหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์

 

โดยอาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมในช่วงที่เป็นตุ่มน้ำใสทำให้เห็นเป็นหนองในตุ่มน้ำใส โดยผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ในระยะนี้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลาหลายนาทีจนถึงชั่วโมง และอาจเกิดจากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อได้

ภาวะแทรกซ้อน โดยทั่วไปอาการมักไม่รุนแรงและหายได้เอง ยกเว้นในผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจพบภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้ร้อยละ 1 (สายพันธุ์อาฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดในขณะนี้)

 

รศ.นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ กล่าวว่า หากมีอาการที่สงสัยโรคฝีดาษลิง ควรรีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติความเสี่ยง แพทย์จะพิจารณาทำการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสจากผื่นหรือตุ่มหนอง โดยการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี PCR 

 

สำหรับการรักษาโดยใช้ยาในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่ใช้รักษาผีดาษลิงโดยตรง แต่มียาที่ชื่อ tecovirimat ซึ่งมีใช้รักษาฝีดาษคน ซึ่งมีข้อมูลในสัตว์ทดลองว่าอาจใช่รักษาโรคฝีดาษลิงได้ แต่ยังไม่มียาชนิดนี้อยู่ในไทย นอกจากนี้อาจพิจารณาให้วัคซีนแก่ผู้ที่ไม่เคยได้รับหรือรับวัคซีนก่อนหน้าเกิน 3 ปี โดยสามารถฉีดวัคซีนภายใน 4 วัน (อาจให้ได้จนถึง 14 วัน) หลังสัมผัสเชื้อ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงของโรค

           

ส่วนการป้องกันโรคฝีดาษลิง

 

1.ควรหลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่มีผื่น โดยเฉพาะในช่วงที่การแตกของแผลและมีสารคัดหลั่งจำนวนมาก ควรแยกและทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงการหลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์รังโรคที่มีอาการ

 

 2.วัคซีน มีสองชนิด ได้แก่ วัคซีนเชื้อเป็น (ACAM2000) ซึ่งบรรจุเชื้อเดียวกับที่ใช้ในการปลูกฝีในไทย (ยุติการปลูกฝีหลัง พ.ศ. 2517)

 

โดยพบว่าอาจสามารถป้องกันการติดเชื้อฝีดาษลิงได้ร้อยละ 85 (ควรรอการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป) และวัคซีนเชื้อตาย (JYNNEOS) ซึ่งต้องฉีด 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์  โดยในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนทั้งสองชนิดในไทยและยังแนะนำวัคซีนเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการหรือทำวิจัยกับสัตว์ทดลอง

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,811 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565